เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/12674
วันที่: 19 ธันวาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (9)
ข้อหารือ: บริษัท ก. ประกอบกิจการผลิต จำหน่าย และส่งออกสินค้าประเภทเครื่องมือ อุปกรณ์ทาง
การเกษตร ในการประกอบกิจการบริษัทฯ มีลูกหนี้ทางการค้าซึ่งเป็นลูกค้าที่ได้ซื้อสินค้าจากบริษัทฯ โดยมี
การซื้อสินค้าจำนวนหลายครั้ง และได้ตกลงชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัทฯ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับ
สินค้าแต่ละครั้ง ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระค่าสินค้า ลูกค้าไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯ ได้
ดำเนินการติดตามทวงถาม ลูกค้าได้ขอผ่อนชำระหนี้ค่าสินค้าบางส่วนให้แก่บริษัทฯ เหลือค่าสินค้าที่
ค้างชำระเป็นจำนวนเงิน 6,480,200 บาท บริษัทฯ ได้ติดตามทวงถามแต่ไม่ได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด
บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้ดังกล่าวต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2543 เพื่อให้ลูกหนี้
ชำระหนี้แก่บริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 6,759,823.40 บาท โดยเป็นเงินต้นจำนวน 6,480,200 บาท
พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 279,623.40 บาท และเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 บริษัทฯ ได้ทำ
สัญญาประนีประนอมยอมความกับลูกหนี้ในศาล โดยลูกหนี้จะผ่อนชำระให้บริษัทฯ เป็นงวดรายเดือนเดือน
ละไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท หากลูกหนี้ชำระเงินตามงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 7 ให้แก่บริษัทฯ ครบถ้วน โดย
ไม่ผิดนัดแม้แต่งวดเดียว บริษัทฯ ยอมปลดหนี้ส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนให้
แก่ลูกหนี้ บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า หนี้ส่วนที่เหลือที่บริษัทฯ จะปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้นั้นหากลูกหนี้ได้ปฏิบัติ
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลดังกล่าว บริษัทฯ สามารถจำหน่ายหนี้สูญได้ใน
รอบระยะเวลาบัญชีที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทฯ ครบในงวดที่ 7 ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ หารือว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: การที่บริษัทฯ ปลดหนี้ให้กับลูกหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตามข้อเท็จจริง
ดังกล่าว ส่วนของหนี้ที่บริษัทฯ ปลดให้จะหักเป็นรายจ่ายประเภทหนี้สูญไม่ได้ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์
การจำหน่ายหนี้สูญตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 186
(พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
เลขตู้: 66/32752


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020