เมนูปิด

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 212 (พ.ศ. 2541)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออก กฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1   ให้ยกเลิกความในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

                      “ข้อ 2  การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 6 ทวิ และข้อ 7”

 

                ข้อ 2  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6 ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

                      “ข้อ 6 ทวิ  การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นธนา คารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ในส่วนของหนี้ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ในระหว่าง วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 อันเนื่องมาจากการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคาร แห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 ”

 

                ข้อ 3  ให้ยกเลิกความในข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

                      “ข้อ 7  หนี้ของลูกหนี้รายใดที่เข้าลักษณะตามข้อ 3 และได้ดำเนินการ ตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 หรือข้อ 6 ทวิ ครบถ้วนแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้จำหน่าย เป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่กรณีตาม ข้อ 5(2) และ (3) ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง คำขอเฉลี่ยหนี้ ”

 

                ข้อ 4  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2541

 

พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล

รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

___________________________________________________________________

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ อันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความ สามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ และอาจทำให้สถาบัน การเงินมีความจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา เพื่อให้มีโอกาสได้รับ ชำระหนี้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเพื่อช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีแนวโน้มว่ายัง สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป ดังนั้น เพื่อส่งเสริมและ จูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จึงสมควรกำหนดให้สถาบันการเงิน สามารถจำหน่ายหนี้สูญในส่วนของหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้จากบัญชีลูกหนี้ได้ตามประมวล รัษฎากร หากการปลดหนี้นั้นมีผลมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ หรือ ในลักษณะเช่นเดียวกับหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคาร แห่งประเทศไทยประกาศกำหนด จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 58 ก วันที่ 7 กันยายน 2541)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022