เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/11592
วันที่: 21 พฤศจิกายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ มีรายได้จากค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (12)
ข้อหารือ: กรณีสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ (เดิม) ได้ทำการตรวจปฏิบัติการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับ
เดือนภาษีตุลาคม 2543 ขอคืนภาษีเป็นเงินสดจำนวน 136,688.16 บาท ราย บริษัท พ. ซึ่ง
ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรือเดินทะเล ผลของการตรวจสอบตามรายละเอียดใน
งบการเงินปี 2543 พบว่า บริษัทฯ มีกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน จำนวน 10,607,848.80 บาท
ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ตามที่บริษัทฯ นำมาประกอบเป็นเอกสารอ้างอิงพบว่า
รายการกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากเรือสินค้า (เรือเดินทะเล) ของบริษัทฯ
ประสบภัยเรือจมในทะเลจีนใต้ และบริษัทฯ ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย จำนวน
27,500,000 บาท ราคาตามบัญชีของเรือ ณ วันที่ประสบภัยทางทะเล คือ 16,892,151.20 บาท
ทำให้มีผลต่างแสดงเป็นกำไร จำนวน 10,607,848.80 บาท บริษัทฯ ไม่ได้นำรายได้จาก
ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 10,607,848.80 บาท มารวมคำนวณเพื่อชำระภาษีเงินได้เนื่องจากเข้าใจ
ว่าเป็นรายได้เนื่องจากกิจการขนส่งทางทะเล ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 72)ฯ ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 แต่
เจ้าพนักงานฯ เห็นว่าค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรายได้จากกิจการขนส่ง
ทางทะเล จึงหารือว่า
1. กรณีถือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ จะถือว่าได้รับยกเว้นค่าสินไหมทดแทนทั้ง
จำนวนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยหรือไม่ อย่างไร
2. กรณีไม่ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ บริษัทฯ ต้องเสียภาษีเงินได้จาก
ค่าสินไหมทดแทนทั้งจำนวนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: ค่าสินไหมทดแทนที่บริษัท พ. ได้รับจากบริษัทประกันภัย มิใช่รายได้จากการขนส่งสินค้า
ทางทะเลระหว่างประเทศ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด ถ้าค่าสินไหมทดแทน
มากกว่าผลเสียหาย ผลต่างถือเป็นรายได้ที่บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าผลเสียหายมากกว่าค่าสินไหมทดแทน ผล
ต่างถือเป็นผลเสียหายที่บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.58/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของ
ทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2538
เลขตู้: 66/32732


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020