เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/11101
วันที่: 17 พฤศจิกายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการด้าน การบัญชี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39, มาตรา 40(8), มาตรา 65, มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2(1), มาตรา 79, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ซ. ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการด้านการบัญชีซึ่งผู้ว่าจ้างเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายบางประการ โดย
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ เป็นบริษัทในเครือโดยมีบริษัท ป. ถือหุ้นทั้งหมด บริษัทฯ ประกอบกิจการ
ให้บริการรับจัดทำบัญชี วางระบบบัญชี และให้คำปรึกษาด้านบัญชี การเงิน และภาษีอากร โดยการ
ให้บริการด้านการบัญชีแก่บริษัทผู้ว่าจ้างบางราย บริษัทฯ ต้องส่งพนักงานออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ให้
แก่บริษัทผู้ว่าจ้าง เช่น การติดต่อกับเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ การตรวจนับสินค้าในคลังสินค้าของ
ผู้ว่าจ้างซึ่งอยู่ในต่างจังหวัด หรือการวางระบบบัญชีที่สาขาของผู้ว่าจ้างซึ่งอยู่ในต่างประเทศ เป็นต้น
โดยการออกปฏิบัติงานนอกสถานที่ดังกล่าว บริษัทผู้ว่าจ้างและบริษัทฯ ตกลงกันว่าบริษัท ผู้ว่าจ้างต้องรับ
ภาระจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการที่พนักงานของบริษัทฯ
ต้องออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ให้แก่บริษัทผู้ว่าจ้างตามอัตราที่บริษัทผู้ว่าจ้างกำหนดนอกเหนือจากค่าจ้าง
ที่ตกลงกันไว้ บริษัทฯ เข้าใจว่า การจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของ
บริษัทผู้ว่าจ้างให้แก่พนักงานของบริษัทฯ ดังกล่าว บริษัทผู้ว่าจ้างไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และบริษัทฯ ไม่ต้อง
นำค่าใช้จ่ายที่บริษัทผู้ว่าจ้างจ่ายให้แก่พนักงานของบริษัทฯ มารับรู้เป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อ
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ส่งพนักงานออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ในต่างจังหวัดหรือในต่างประเทศให้แก่
บริษัทผู้ว่าจ้าง โดยบริษัทผู้ว่าจ้างตกลงรับภาระจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานโดยตรงนอกเหนือจากค่าจ้างที่จ่ายให้บริษัทฯ กรณีดังกล่าวบริษัทฯ มีภาระ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เนื่องจากการปฏิบัติงานนอกสถานที่ของพนักงานบริษัทฯ เพื่อให้บริการด้านการบัญชีแก่
บริษัทผู้ว่าจ้าง โดยพนักงานยังคงได้รับเงินเดือนจากบริษัทฯ จากการปฏิบัติงานนอกสถานที่ ถือว่า
พนักงานของบริษัทฯ ได้ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างและการที่บริษัทฯ ได้กำหนดค่าตอบแทน
จากการให้บริการแก่บริษัทผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนแยกต่างหาก ดังนั้น เงินค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าที่พัก
และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่บริษัทผู้ว่าจ้างจ่ายให้แก่พนักงานโดยตรงจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าบริการหรือ
ค่าตอบแทนที่บริษัทผู้ว่าจ้างจ่ายให้แก่บริษัทฯ นอกเหนือไปจากค่าบริการตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และเข้า
ลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่บริษัทฯ ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่บริษัทฯ กระทำ
ในรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งบริษัทฯ จะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม
มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
กรณีบริษัทผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าบริการ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ให้แก่พนักงานของบริษัทฯ เนื่องจากการปฏิบัติงานนอกสถานที่ ถือเป็นการจ่ายเงินค่าบริการให้แก่บริษัทฯ
และเนื่องจากค่าบริการที่บริษัทฯ ได้รับดังกล่าวเป็นค่าจ้างทำของที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้ว่าจ้างจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 8
แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2526
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เนื่องจากการให้บริการด้านการบัญชีของบริษัทฯ เป็นการให้บริการตามมาตรา
77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่บริษัทฯ ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการดังกล่าว
มารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ บริษัทฯ ต้องนำ
ค่าตอบแทนที่ได้รับจากการให้บริการตามสัญญา รวมทั้งประโยชน์อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการ
ให้บริการ ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่บริษัทผู้ว่าจ้างจ่ายให้แก่พนักงานโดยตรง
มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เลขตู้: 66/32725


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020