เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/11062
วันที่: 14 พฤศจิกายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียมการให้กู้เงิน (Front End Fee)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ก), มาตรา 91/5(1) และมาตรา 65 ตรี
ข้อหารือ: ธนาคารฯ ได้มีข้อตกลงให้กู้ยืมเงินเป็นพิเศษ ดังนี้
1. ธนาคารฯ ตกลงให้กู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ลูกค้า โดยเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ในปีแรก
อัตราร้อยละ 2 ต่อปี ปีที่สองร้อยละ 3.5 ต่อปี และปีที่สามร้อยละ 4.5 ต่อปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยใน
อัตรา Minimum loan rate (MLR) ของธนาคารลบด้วยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อให้ลูกค้านำเงินกู้
ดังกล่าวไปซื้อที่อยู่อาศัยจากผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์
2. โดยเหตุที่ผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ (ผู้ประกอบกิจการ) ต้องการที่จะให้ลูกค้า
ผู้ซื้อบ้านไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในปีแรก (ปีแรกร้อยละ 0) ดังนั้น ในกรณีธนาคารฯ ได้อนุมัติสินเชื่อฯ แก่
ลูกค้ารายนั้น ผู้ประกอบกิจการตกลงที่จะชำระดอกเบี้ยปีแรกในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีให้แก่ธนาคารฯ แทน
ลูกค้า โดยถือเป็นค่าธรรมเนียมการให้กู้ยืม (Front-end fee) ในอัตราร้อยละ 2 ของจำนวนเงินกู้
ซึ่งระบุในสัญญากู้เงินสินเชื่อฯ ในวันที่ลูกค้ารับโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ประกอบการและจดจำนองที่ดินและบ้าน
กับธนาคาร
3. เมื่อผู้ประกอบกิจการชำระค่าธรรมเนียมการให้กู้เงิน (Front-end fee) ตามข้อ 2
ข้างต้นแก่ธนาคารฯ แล้ว ธนาคารฯ จะทำสัญญากู้เงินสินเชื่อฯ กับลูกค้ารายนั้น ๆ ตามแบบสัญญา
มาตรฐานของธนาคารฯ แต่เพื่อผลในทางการตลาด ธนาคารฯ อาจจะระบุในสัญญากู้เงินสินเชื่อฯ ว่า
อัตราดอกเบี้ยในปีแรกเป็นร้อยละ 0 ต่อปีกรณีดังกล่าวข้างต้นจะมีภาระภาษีอย่างไรบ้าง
แนววินิจฉัย: 1. ค่าธรรมเนียมการให้กู้เงินและดอกเบี้ยเงินกู้ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาระภาษีของผู้ที่เกี่ยวข้องแยกพิจารณาได้ดังนี้
2.1 ธนาคารฯ
2.1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล
(ก) ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องนำเงินที่ได้จากผู้ประกอบกิจการมารวมคำนวณ
เป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) กรณีที่ธนาคารฯ เรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตรา
ต่ำกว่าราคาตลาด ในกรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65
ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
2.1.2 ภาษีธุรกิจเฉพาะ กิจการธนาคารฯ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามมาตรา 91/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องนำรายรับที่ได้รับมาเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะโดยฐานภาษีสำหรับกิจการย่อมเป็นไปตามมาตรา 91/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 ผู้ประกอบกิจการ
ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมีข้อตกลงตามสัญญากับธนาคารฯ ว่าจะจ่ายค่าธรรมเนียม
การให้กู้เงินและหรือดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวแทนผู้กู้ หากธนาคารฯ อนุมัติเงินกู้ให้ผู้กู้เพื่อนำเงินกู้ไปซื้อ
ที่อยู่อาศัยจากผู้ประกอบกิจการ เงินที่ผู้ประกอบกิจการจ่ายไปจึงเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับการ
ประกอบกิจการหากำไร ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่ง
ประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
เลขตู้: 66/32724


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020