เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./5783
วันที่: 19 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2(1), มาตรา 82/3, มาตรา 82/5
ข้อหารือ: สหกรณ์แท็กซี่ประกอบกิจการบริการจัดหารถยนต์แท็กซี่ให้แก่สมาชิกเพื่อนำมาเดินรถร่วมในนาม
ของสหกรณ์ โดยสหกรณ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และสมาชิกเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ มีรายละเอียดดังนี้
1. สหกรณ์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แท็กซี่กับบริษัทไฟแนนซ์แทนสมาชิก บริษัทไฟแนนซ์จะ
ออกใบกำกับภาษีให้ในนามของสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์จะนำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาเป็นภาษีซื้อของสหกรณ์
และเมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นสหกรณ์จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์
2. สหกรณ์นำรถยนต์แท็กซี่ที่เช่าซื้อดังกล่าวให้สมาชิกเช่าช่วงต่อ โดยในสัญญาระบุให้สมาชิก
จ่ายค่าเช่าทั้งหมดเท่ากับจำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นที่สหกรณ์ต้องจ่ายให้กับบริษัทไฟแนนซ์ โดยให้แบ่งจ่าย
เป็นงวด ๆ เท่ากับจำนวนเงินค่าเช่าซื้อต่องวด สหกรณ์จะออกใบกำกับภาษีให้สมาชิกและนำส่งภาษีขาย
ในแต่ละเดือนภาษี
3. เมื่อสมาชิกจ่ายค่าเช่าจนครบถ้วนแล้ว สมาชิกไม่ต้องจ่ายค่าเช่าอีกต่อไป แต่ยังคงได้รับ
สิทธิครอบครองรถยนต์แท็กซี่ไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยสมาชิกจะต้องรับผิดชอบในการดูแลรักษาซ่อมแซม
หากสมาชิกไม่ประสงค์จะนำรถยนต์แท็กซี่ดังกล่าวร่วมเดินรถในนามสหกรณ์ต่อไป สหกรณ์จะทำการ
โอนกรรมสิทธิ์ให้สมาชิกโดยสมาชิกจะเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมในการโอน
4. ในระหว่างที่สมาชิกเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่ สหกรณ์จะจัดทำประกันภัยรถยนต์แท็กซี่
โดยเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยจากสมาชิกเพื่อนำมาจ่ายให้กับบริษัทประกันภัย และบริษัทประกันภัยจะ
ออกใบกำกับภาษีให้ในนามสหกรณ์กรมฯ หารือว่ากรณีที่สหกรณ์นำค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวมาถือเป็น
ภาษีซื้อของสหกรณ์โดยมิได้เป็นผู้จ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยเองเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: สหกรณ์ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์แท็กซี่ ซึ่งถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)
แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ภาษีซื้อค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์แท็กซี่ดังกล่าวจึงเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้อง
โดยตรงกับการประกอบกิจการ อีกทั้งเป็นภาษีซื้อที่ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) และ
มาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร สหกรณ์จึงมีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีใน
แต่ละเดือนภาษีได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีสหกรณ์เรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัย
จากสมาชิก เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้อง
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32512


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020