เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5404
วันที่: 12 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีอย่างย่อร่วมกันสำหรับ 2 กิจการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/3, มาตรา 86/5(4), กฎกระทรวง ฉบับที่ 198 (พ.ศ. 2538)ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ฟ. เป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน
บริษัท ฟ. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการประเภทซุปเปอร์มาร์เก็ต ขายปลีก
สินค้าต่าง ๆ และได้รับสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง
ราชอาณาจักรไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ประเทศภาคีให้สิทธิแก่บุคคลของประเทศภาคีสามารถ
ประกอบธุรกิจในประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเสมือนคนชาตินั้น ยกเว้นธุรกิจที่สงวนไว้เป็นพิเศษตามสนธิสัญญา
ซึ่งมีผลให้บริษัท ฟ. ประกอบธุรกิจขายปลีกในประเทศไทยได้ แต่ไม่สามารถประกอบธุรกิจขายผลิตผล
ทางการเกษตรพื้นเมืองในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ และบริษัท ฟ. ได้ทำสัญญาให้เช่าพื้นที่ภายในร้าน
ซุปเปอร์มาร์เก็ตกับบริษัท ล. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทย ไม่เป็น
บริษัทในเครือของบริษัท ฟ.ประกอบกิจการขายสินค้าทางการเกษตรซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท
ล. ได้แต่งตั้งบริษัท ฟ. เป็นตัวแทนรับชำระราคาสินค้าทางการเกษตรโดยใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน
ของบริษัท ฟ.บันทึกรายการขายสินค้าและออกใบกำกับภาษีฉบับเดียวเป็นชื่อของบริษัท ฟ. แต่จะมีรหัส
อักษรรายการสินค้าของแต่ละบริษัทแสดงไว้หน้ารายการสินค้า มีรหัสหรือเครื่องหมายที่แสดงว่า สินค้าใด
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แสดงยอดรวมเงินจากการขายสินค้าของบริษัท ล. ซึ่ง
ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และแสดงรายละเอียดของรายงานสรุปการขายประจำวันแยกมูลค่าสินค้าที่
ขายของแต่ละบริษัท ทั้งนี้ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจัดให้มีการบริหารและบริการรับชำระราคาสินค้า
เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่ลูกค้า และเพื่อควบคุมรายรับของบริษัทผู้เช่าอันมีผลต่อการกำหนด
อัตราค่าเช่าพื้นที่ บริษัท ฟ. จึงขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อร่วมกัน
สำหรับ 2 กิจการดังกล่าวข้างต้น
แนววินิจฉัย: บริษัท ฟ. ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าแทนบริษัท ล. ได้ เนื่องจาก
บริษัท ล. มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และไม่มีสิทธิตั้งตัวแทนออกใบกำกับภาษีโดยกำหนดรายการในใบกำกับภาษีเป็นอย่างอื่น
ได้ ตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 198 (พ.ศ. 2538)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายสินค้าหรือการให้บริการอื่นตามมาตรา 86/5(4) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32497

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020