เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6059
วันที่: 26 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอยกเว้นภาษีจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (4), มาตรา 77/1(8) และ (9)
ข้อหารือ: บริษัท ก. ประกอบกิจการขนส่งขยะมูลฝอยให้กับกรุงเทพมหานครและนำไปกำจัดโดยวิธีฝัง
กลบอย่างถูกสุขลักษณะในพื้นที่ของบริษัทฯ ในการดำเนินการฝังกลบขยะทำให้เกิดแก๊สมีเทนซึ่งมีผลกระทบ
ต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะ
วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการจัดตั้งโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สขยะ
ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ
1. มหาวิทยาลัยฯ และบริษัทฯ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการจัดตั้งโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊ส
ขยะ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีและการจัดการ ตลอดจนเป็นต้นแบบในการพัฒนาพลังงาน
ทดแทน โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้จัดหางบประมาณในการก่อสร้าง
2. เทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สขยะที่มหาวิทยาลัยฯ ริเริ่มขึ้นตามโครงการนี้เป็น
ลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยฯ ผู้ใดจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ประโยชน์หรืออ้างอิงใด ๆ จะต้องได้รับ
อนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน แต่ในส่วนของบริษัทฯ ที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในพื้นที่ของบริษัทฯ
มหาวิทยาลัยฯ จะพิจารณาให้บริษัทฯ และบริษัทในเครือนำไปใช้ประโยชน์ได้
3. บริษัทฯ ตกลงให้มหาวิทยาลัยฯ ใช้พื้นที่ของบริษัทฯ และใช้แก๊สจากขยะเพื่อดำเนินการ
ตามโครงการฯ จนถึงจุดคุ้มทุนของโครงการฯ แต่ไม่เกินระยะเวลา 6 ปีนับแต่วันที่เปิดเดินเครื่องผลิต
กระแสไฟฟ้า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังจากโครงการฯ ถึงจุดคุ้มทุนแล้วจะตกลงกันในภายหลัง และต่อมา
ได้ร่างข้อตกลงฉบับที่ 2 ว่า บริษัทฯ ตกลงให้มหาวิทยาลัยฯ ใช้พื้นที่ของบริษัทฯ และใช้แก๊สจากขยะเพื่อ
ดำเนินการเป็นเวลา 12 ปี โดยทางบริษัทฯ จะได้รับค่าผลประโยชน์จากแก๊สหลังจากโครงการฯ ถึงจุด
คุ้มทุนแล้ว โดยผลประโยชน์จากแก๊สคิดเป็นมูลค่าเทียบเท่ากับค่าความร้อนของเชื้อเพลิง (บาท/ล้านบีทียู)
ที่ใช้ป้อนเครื่องยนต์ผลิตกระแสไฟฟ้าตามอัตราที่ธนาคารโลกและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน
แห่งชาติกำหนดหลังจากหักค่าดำเนินการประจำปีทั้งหมด
บริษัทฯ จึงหารือว่าบริษัทฯ จะต้องรับภาระภาษีประเภทใดหรือไม่ และเนื่องจากโครงการฯ
ดังกล่าวเป็นโครงการฯ ในพระราชดำริที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม จึงขอให้ยกเว้นภาษีให้บริษัทฯ ด้วย
แนววินิจฉัย: บริษัทฯ มีภาระภาษีจากการดำเนินการตามโครงการฯ ดังต่อไปนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
โครงการฯ ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งต้นแบบระบบผลิต
กระแสไฟฟ้าจากแก๊สขยะ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริฯ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หายากอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม ดังนั้น การที่
บริษัทฯ ยอมให้มหาวิทยาลัยฯ ใช้ที่ดินและใช้แก๊สที่เกิดจากขยะบนที่ดินของบริษัทฯ เพื่อนำไปเป็น
เชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่มีค่าตอบแทน และมีข้อตกลงว่าบริษัทฯ จะได้รับผลประโยชน์
ตอบแทนเมื่อโครงการฯ ถึงจุดคุ้มทุนแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการโอนทรัพย์สินหรือให้บริการ
โดยไม่มีค่าตอบแทนโดยมีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
กรณีบริษัทฯ ได้รับค่าตอบแทนจากการให้ใช้ที่ดินและแก๊สจากขยะเมื่อโครงการฯ ถึงจุด
คุ้มทุนแล้ว ค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ บริษัทฯ มีหน้าที่
ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
แก๊สจากขยะเป็นทรัพย์สินไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขายเพื่อ
ใช้หรือเพื่อการใด ๆ ดังนั้น การที่บริษัทฯ ให้มหาวิทยาลัยฯ ใช้แก๊สจากขยะดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น
การขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากการที่บริษัทฯ ยอมให้
มหาวิทยาลัยฯ ใช้แก๊สจากขยะโดยไม่มีค่าตอบแทน เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าโดยไม่มีค่าตอบแทนโดย
มีเหตุอันสมควร บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำมูลค่าของฐานภาษีดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่
อย่างใดตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อเมื่อบริษัทฯ ได้รับค่าตอบแทนเมื่อโครงการฯ
ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว บริษัทฯ จะต้องนำมูลค่าของฐานภาษีดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32526


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020