เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9684
วันที่: 13 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษเงินได้นิติบุคคล กรณีการจัดแข่งขันชกมวยชิงแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3, มาตรา 56, มาตรา 76, มาตรา 77/2
ข้อหารือ: ระบบภาษีอากรเกี่ยวกับการเตรียมการจัดการแข่งขันชกมวยชิงแชมป์โลก รุ่นเฮฟวี่เวทใน
ประเทศไทยมีอย่างไรบ้าง
แนววินิจฉัย: 1. กรณีผู้จัดการแข่งขันเป็นคณะกรรมการจัดการแข่งขัน จะมีฐานะเป็นคณะบุคคลตาม
ประมวลรัษฎากร หากมีรายได้จากการจำหน่ายบัตรผ่านประตู และลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดผ่านดาวเทียม
ภายในประเทศไทยจากการดำเนินการจัดการแข่งขันชกมวยในประเทศไทย มีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดีหาก เป็นนโยบายของรัฐที่จะจัดการแข่งขันและมีความ
ประสงค์ที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ก็สามารถตรา
พระราชกฤษฎีกาโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อลดหรือยกเว้นรัษฎากรให้ได้
ดังเช่นที่ได้ดำเนินการให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และกีฬาเฟสปิคเกมส์
ครั้งที่ 7 มาแล้ว
2. กรณีบริษัท Promoter ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้
เข้ามาให้บริการจัดการแข่งขันชกมวยในประเทศไทย โดยผ่านลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ
บริษัท Promoter มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี กรณีบริษัท Promoter ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ก็จะ
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 5 และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บ
ภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ในประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อ
บริษัท Promoter เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว บริษัท Promoter มีหน้าที่
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้จัดการแข่งขันมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อจ่ายเงินให้
3. กรณีนักมวย เงินได้ที่นักมวยได้รับจากการแข่งขันชกมวยในประเทศไทย อยู่ในบังคับต้อง
เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่
นักมวยได้เสียภาษีไว้ในประเทศไทย สามารถนำไปหักออกจากจำนวนภาษีที่จะต้องเสียในประเทศ
สหรัฐอเมริกาได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 25 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับ
ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ
ยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
เลขตู้: 66/32522

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020