เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.01)/584
วันที่: 29 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปลดหนี้
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542
ข้อหารือ: 1. บริษัท อ. ประกอบกิจการสถานพยาบาล ชื่อ โรงพยาบาลสำโรง ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง
จังหวัดสมุทรปราการ ปี 2541 - 2544 สถานภาพและกิจการของโรงพยาบาลอยู่ในภาวะซบเซาเกิด
ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและคาดว่าไม่สามารถฟื้นตัวในระยะเวลาอันสั้น บริษัทฯ จึงเข้าสู่ระบบ
การขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามวิธีการของคณะกรรมการเพื่อการส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย
2. ผลการเจรจากับ บจ. เงินทุนหลักทรัพย์ ก เจ้าหนี้ บจ.เงินทุนหลักทรัพย์ฯ ได้เสนอวิธี
แก้ปัญหา 3 แนวทาง บริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอเหล่านั้น เนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้
ใหม่ในระยะเวลาสั้น ในระหว่างเจรจาบริษัทฯ ได้ชำระหนี้ให้ บจ.เงินทุนหลักทรัพย์ฯ เท่าที่สามารถ
กระทำได้
3. ต่อมา บจ.เงินทุนหลักทรัพย์ฯ ได้จำหน่ายและโอนผลประโยชน์ของหนี้สินรวมทั้ง
หลักประกันที่เกี่ยวข้องให้กองทุนรวม ท. ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินโดยเฉพาะ
4. ในปี 2544 กองทุนรวมฯ ยินยอมลดหนี้เป็นเงินต้นให้บริษัทฯ 12,000,000 บาท บริษัทฯ
หารือว่า การลดหนี้เงินต้น 12,000,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ หาก
ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องคำนวณภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวหรือเฉลี่ยตาม
จำนวนปีที่ผ่อนชำระ
แนววินิจฉัย: เงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ด้วยการลดหนี้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว มิใช่การปลดหนี้ของ
สถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประกาศกำหนด ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 บริษัทฯ ต้องนำ
มารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32456

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020