เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/ก.0039
วันที่: 9 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1)(ซ)
ข้อหารือ: นาย ธ. ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการแจ้งคืนภาษีเงินได้ลดลง เนื่องด้วยนาง ม. ภริยาของนาย
ธ. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารเมื่อปี พ.ศ. 2539 เพียงคนเดียว โดยนาย ธ. ไม่ได้เป็นผู้ร่วมกู้ยืม
เงินในสัญญาดังกล่าวด้วย นาง ม. ได้ใช้สิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ในปี พ.ศ.
2541 และ พ.ศ. 2542 แต่ในปี พ.ศ. 2543 นาง ม. ไม่มีเงินได้ นาย ธ. มีเงินได้จึงใช้สิทธินำ
เงินค่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาหักลดหย่อนเต็มจำนวน
แนววินิจฉัย: ผู้มีเงินได้จะนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น สำหรับการกู้ยืม
เงินเพื่อซื้ออาคารที่อยู่อาศัยโดยจำนองอาคารที่ซื้อเป็นประกันการกู้ยืมมาหักลดหย่อนในการคำนวณ
ภาษีเงินได้ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากรได้นั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ
การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17
พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
กรณีนาย ธ. และนาง ม. สามีภริยา ในปีภาษี พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นปีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม แม้นาง ม. จะไม่มีเงินได้แต่นาย ธ. เป็นผู้มีเงินได้ฝ่ายเดียว หากนาย ธ.เป็นผู้มีชื่อ
เป็นผู้ร่วมกู้ยืมเงินกับนาง ม. นาย ธ. ย่อมมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ แต่เมื่อนาย ธ. มิได้
เป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ร่วมกู้ยืมเงินกับนาง ม. จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อ 2(8) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86)ฯ ดังนั้นในปีภาษี พ.ศ. 2543 นาย ธ. จึง
ไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32479


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020