เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./549
วันที่: 22 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(19), มาตรา 79/1(1), มาตรา 80/1(1), มาตรา 82/5
ข้อหารือ: บริษัท ม. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการผลิตสินค้าผลไม้กระป๋อง
และเครื่องดื่มขายในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศ กรณีการขายสินค้าโดยการส่งออกไป
ต่างประเทศ บริษัทฯ และลูกค้าในต่างประเทศ จะตกลงใช้ราคาขายสินค้าที่ส่งออกตามราคา
ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าโดยคำนวณจากราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งเนื่องจากบริษัทฯ
ต้องเป็นผู้ทำประกันภัยพร้อมกับว่าจ้างบริษัทอื่นเป็นผู้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว ในการคำนวณราคาสินค้า
สำหรับการยื่นแบบ ภ.พ.30 การลงรายงานภาษีขายและการลงรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
บริษัทฯ ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ที่บริษัทฯ ตกลงกับลูกค้าในต่างประเทศมาเป็นฐานในการคำนวณภาษี แต่
ในใบขนสินค้าขาออกของกรมศุลกากรใช้ราคา เอฟ.โอ.บี. บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จากราคาสินค้าบวกค่าประกัน
ภัยและค่าขนส่งหรือไม่
2. กรณีบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เฉพาะค่าประกันภัยและ
ค่าขนส่ง บริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้าในต่างประเทศจากค่าประกันภัยและค่าขนส่งหรือไม่
หากเรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้าในต่างประเทศไม่ได้ จะถือว่าบริษัทฯ ยื่นภาษีขายไว้ขาดหรือไม่ และ
ภาษีซื้อของค่าประกันภัยและค่าขนส่ง บริษัทฯ จะถือเป็นภาษีซื้อที่จะนำไปคำนวณหักภาษีขายได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ตกลงขายสินค้าที่ส่งออกในราคา ซี.ไอ.เอฟ. ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับการส่งออกสินค้าซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากรนั้น ฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว บริษัทฯ ต้องใช้มูลค่าของสินค้าส่งออก
ตามราคา เอฟ.โอ.บี. ของสินค้าบวกด้วยภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่ได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ไม่ให้รวม
อากรขาออก ซึ่ง ราคา เอฟ.โอ.บี. ได้แก่ ราคาสินค้า ณ ด่านศุลกากรส่งออกโดยไม่รวมค่าประกันภัย
และค่าขนส่งจากด่านศุลกากรส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำค่าประกันภัยและค่าขนส่งมารวมคำนวณเป็นฐานภาษี ในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออกสินค้า
2. ภาษีซื้ออันเกิดจากค่าประกันภัยและค่าขนส่งสินค้าจากด่านศุลกากรออกไปต่างประเทศที่
บริษัทฯ เป็นผู้จ่ายไปเนื่องจากการส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศ เป็นภาษีซื้ออันเกิดจากการรับบริการ
มาเพื่อใช้ในกิจการที่เกี่ยวกับการขายสินค้าโดยการส่งออกให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศซึ่งได้รับสิทธิเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ค่าขนส่งและค่าประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นบริการที่นำไปใช้ในกิจการที่
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่กฎหมายกำหนดให้ค่าบริการดังกล่าว ไม่ต้องนำมูลค่าของค่าบริการ
มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79/1(1) แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น ดังนั้น หาก
ภาษีซื้อดังกล่าวเป็นภาษีซื้อที่ไม่ต้องห้ามไม่ให้นำไปหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/5 แห่ง
ประมวลรัษฎากรแล้ว ย่อมนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
เลขตู้: 66/32439

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020