เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./4498 |
วันที่ | : 19 พฤษภาคม 2546 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(21), มาตรา 79(4), มาตรา 83/8, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 80)ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัท ม. ประกอบกิจการเป็นผู้ผลิตไม้แขวนเสื้อมีบริษัทในเครือเดียวกันอยู่หลายแห่งทั่วโลก บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีลูกค้าในประเทศสั่งซื้อสินค้าในรุ่นที่บริษัทฯ ไม่มีการผลิต บริษัทฯ จึง สั่งซื้อสินค้ารุ่นดังกล่าวจากบริษัทในเครือเดียวกันในต่างประเทศในราคา Inter Company Price ซึ่ง ถูกกว่าราคาที่เสนอขายให้ลูกค้า บริษัทในเครือในต่างประเทศส่งสินค้าให้ลูกค้าในประเทศโดยตรง และ ลูกค้าเป็นผู้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเอง โดยเอกสาร Invoice Packing List จะระบุราคาเดียวกับ ราคาที่บริษัทฯ เสนอขาย ในการชำระเงินลูกค้าจะต้องชำระค่าสินค้าให้กับบริษัทฯ เป็นเงินบาท บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีในอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของ ธนาคารแห่งประเทศไทย และบริษัทฯ จะเก็บหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาเข้า สำเนาใบเสร็จรับเงิน ของกรมศุลกากรที่ออกให้ลูกค้าพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ บริษัทฯ หารือว่า กรณี ลูกค้ามีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (EPZ) หรือได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งลูกค้าได้รับยกเว้นอากร ขาเข้า บริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือในอัตราร้อยละ 7.0 |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ โดยสินค้าดังกล่าวบริษัทฯ ได้นำเข้าจากต่างประเทศ และได้โอนสินค้าให้ผู้ซื้อยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากร เพื่อ ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ตามมาตรา 83/8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ต้องนำค่าตอบแทนจากการขายสินค้ามารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(9) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 80)ฯ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 2. กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการ ส่งเสริมการลงทุน หรือผู้ซื้อซึ่งจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หากสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ ได้นำเข้าจากต่างประเทศและได้โอนสินค้าให้ผู้ซื้อยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากร และผู้ซื้อได้วางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นการประกัน ภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีตามมาตรา 83/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้อง ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตาม มาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีบริษัทฯ ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตาม กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ ได้นำเข้าจาก ต่างประเทศและได้โอนสินค้าให้ผู้ซื้อยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากร เพื่อ นำสินค้าจากต่างประเทศเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก หากสินค้านั้นได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ผู้ซื้อ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(21) และมาตรา 81(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร กรณี ดังกล่าว ค่าตอบแทนจากการขายสินค้าไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่า ของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(9) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 80)ฯ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อเมื่อความรับผิดในการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 66/32418 |