เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: 0706/4801
วันที่: 26 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล การประเมินภาษีอากรกรณีบริษัทจำกัดถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 1246(5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ: หารือการประเมินภาษีอากร ราย บริษัท ช. กรณีสำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้เข้าตรวจ
สถานประกอบการของบริษัทฯ แต่ไม่สามารถติดต่อกับกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เพื่อขอทราบ
รายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ได้ สำนักงานสรรพากรพื้นที่จึงได้ทำหนังสือเชิญพบ
2 ครั้ง แต่กรรมการผู้จัดการมิได้มาพบตามหนังสือฉบับแรก ส่วนหนังสือฉบับหลังถูกตีกลับโดยไปรษณีย์แจ้ง
ว่า “ไม่มารับภายในกำหนด” ซึ่งจากการคัดค้นข้อมูลพบว่า บริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 16
มีนาคม 2513 มีสาขา 1 แห่ง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534
ประกอบกิจการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง บริษัทฯ ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) และแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) แต่จากการคัดค้น
ข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย พบว่า บริษัทฯ มีรายได้ในเดือนเมษายน 2544 ถึงเดือนมิถุนายน 2545
รวมทั้งสิ้น 3,239,799.21 บาท และจากการคัดหลักฐานทะเบียนนิติบุคคลพบว่านายทะเบียนได้ขีดชื่อ
บริษัทฯ ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วตั้งแต่
วันที่ 8 สิงหาคม 2543 กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯจึงมีรายได้ภายหลังจากถูกขีดชื่อเป็นบริษัท
ร้างแล้ว ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่เห็นว่า แม้นายทะเบียนจะขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนทำให้สภาพ
นิติบุคคลเป็นร้างแล้ว แต่ความรับผิดของกรรมการยังคงมีอยู่ตามมาตรา 1246 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงหารือว่า
(1) สำนักงานสรรพากรพื้นที่จะประเมินภาษีอากรได้หรือไม่
(2) หากประเมินภาษีอากรได้ จะทำการประเมินในนามของใคร และ
(3) หากประเมินภาษีอากรได้ จะส่งหนังสือแจ้งการประเมินไปที่ใด
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัท ช. ได้ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตั้งแต่วันที่ 8
สิงหาคม 2543 ผลทางกฎหมายที่นายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน ถือเป็นการเลิกบริษัทตั้งแต่
เมื่อโฆษณาแจ้งความในหนังสือราชกิจจานุเบกษา แต่ความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการ และของ
ผู้ถือหุ้นทุก ๆ คนมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้น และพึงเรียกบังคับได้เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิก ตาม
มาตรา 1246(5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถ้าเจ้าหนี้ใด ๆ ของบริษัทฯ รู้สึกว่าต้องเสีย
มิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทฯ ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้ของบริษัทฯ ผู้ได้รับความเสียหายต้อง
ไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียน ตามมาตรา 1246(6) แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย พบว่าบริษัทฯ
มีรายได้ในเดือนเมษายน-ธันวาคม 2544 และเดือนมกราคม-เมษายน และมิถุนายน 2545 รวมทั้งสิ้น
จำนวน 3,239,799.21 บาท โดยบริษัทฯ มิได้นำรายได้ดังกล่าวมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจึงต้องดำเนินการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบการ
เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ให้ถูกต้องต่อไป แต่เนื่องจากบริษัทฯ สิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
แล้ว การออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบการเสียภาษีอากรของบริษัทฯ จึงไม่อาจกระทำได้ กรณีตาม
ข้อเท็จจริงกรมสรรพากรจึงถือเป็นเจ้าหนี้ผู้ได้รับความเสียหายเพราะการที่บริษัทฯ ถูกขีดชื่อออกจาก
ทะเบียน ดังนั้น ในการตรวจสอบภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทร้าง ก่อนออกหมายเรียกตรวจสอบ
ภาษีอากรไปยังบริษัทฯ กรมสรรพากรในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ผู้ได้รับความเสียหายต้องไปยื่นคำร้อง
ต่อศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทฯ คืนเข้าสู่ทะเบียนเช่นเดิมตามมาตรา 1246(6) แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อศาลมีคำสั่งดังกล่าวแล้วถือว่าบริษัทฯ ยังคงตั้งอยู่ตลอดมาเสมือนดัง
ว่ามิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่สามารถดำเนินการตรวจสอบภาษีอากร
ของบริษัทฯ ได้ตามกฎหมายต่อไป
2. กรณีที่ต้องทำการประเมินภาษีอากร ให้ทำการประเมินในนามของบริษัท ช.
เลขตู้: 66/32435


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020