เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.07)/451 |
วันที่ | : 30 เมษายน 2546 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 78/1, มาตรา 65 ตรี (12), มาตรา 82/10 |
ข้อหารือ | : 1. บริษัท อ. ประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์มือถือ ในกรณีที่ลูกค้าไม่ชำระค่าใช้บริการ บริษัทฯ ได้ดำเนินการขั้นตอนการจำหน่ายหนี้สูญดังต่อไปนี้ 1.1 เมื่อลูกค้าไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีด้วย เป็นเวลา 2 งวดติดต่อกัน บริษัทฯ จะตัดสายไม่ให้ใช้บริการชั่วคราวจนกว่าจะชำระหนี้ที่ค้างชำระ ทั้งหมดเสียก่อน 1.2 ฝ่ายเร่งรัดหนี้ออกหนังสือทวงถามส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ (ครั้งที่ 1) ไป ยังที่อยู่ของลูกค้า 1.3 หากลูกค้ายังเพิกเฉย บริษัทฯ จะมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ (ครั้งที่ 2) เพื่อบอกเลิกสัญญาให้บริการและเร่งรัดให้ชำระหนี้ มิฉะนั้นจะดำเนินการทางกฎหมาย 1.4 ฝ่ายเร่งรัดหนี้สินส่งเรื่องให้ทนายความของบริษัทฯ เอง หรือว่าจ้างสำนักกฎหมาย ภายนอกให้ดำเนินการติดตามหนี้สิน สำหรับลูกหนี้รายที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้และทนายความเสนอ ความเห็นว่า หนี้ดังกล่าวไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่จะฟ้องร้อง บริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้สูญในทางภาษีทันที ส่วน ลูกหนี้รายที่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ไม่เกินห้าแสนบาท บริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้สูญก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการ ฟ้องร้องคดีต่อศาลและศาลมีคำสั่งรับฟ้อง และกรรมการของบริษัทฯ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ได้มีคำสั่ง อนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น บริษัทฯ จึงขอหารือว่า ขั้นตอนการปฏิบัติของบริษัทฯ ข้างต้นเป็นวิธีที่ครบถ้วนเพียงพอต่อ การจำหน่ายหนี้สูญทางภาษีอากรตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณส่วนของหนี้สูญ เพื่อนำ มาหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/11 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือไม่ หากไม่เพียงพอบริษัทฯ จะต้องปฏิบัติอย่างไรเพิ่มเติมอีก 2. กรณีที่มีผู้ปลอมแปลงหรือนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้อื่นมาขอ ใช้บริการจากบริษัทฯ โดยปลอมแปลงลายมือชื่อของเจ้าของบัตรในคำขอใช้บริการ หนังสือมอบอำนาจ และรับรองเอกสารประกอบต่าง ๆ เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บค่าใช้บริการไปยังชื่อตามที่อยู่ปรากฏในคำขอ ใช้บริการ ผู้ที่ถูกปลอมแปลงได้ปฏิเสธการชำระเงิน เนื่องจากไม่เคยขอใช้บริการจากทางบริษัทฯ และ ได้นำหลักฐานการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแสดงต่อบริษัทฯ เพื่อทำการตรวจสอบหรือบริษัทฯ ดำเนินการพิสูจน์ทราบเอง หากพิจารณาเห็นว่าถูกปลอมแปลงเอกสารหรือลายมือชื่อ โดยผู้นั้นไม่ได้ขอใช้ บริการจากบริษัทฯ จริง บริษัทฯ จะยกเลิกยอดหนี้จำนวนนั้นโดย การออกใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และดำเนินการถอนฟ้องในกรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องคดี ต่อศาลไว้ บริษัทฯ ขอหารือว่า หนี้ที่เกิดจาก การปลอมแปลงเอกสารข้างต้น จะถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ ซึ่งสามารถลงเป็นรายจ่าย ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เมื่อมีการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงว่าถูกปลอมแปลงจริง โดยไม่ต้องปฏิบัติ ตามขั้นตอนในเรื่องหนี้สูญ และสามารถออกใบ ลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นการคิด ค่าบริการผิดพลาดไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง กรณีที่บริษัทฯ ได้จำหน่ายหนี้สูญไปแล้ว ต่อมาในรอบระยะเวลาบัญชีถัดมา จึงทราบว่าลูกหนี้ รายนั้นถูกปลอมแปลง หรือมีการทุจริต เนื่องจากผู้ที่ถูกปลอมแปลงไม่ได้ติดต่อกลับมายังบริษัทฯ ในระยะ แรกที่มีการทวงถาม บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติในทางภาษีอย่างไร ทั้งในด้านภาษีเงินได้ นิติบุคคล และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม |
แนววินิจฉัย | : 1. การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว (1) กรณีหนี้สำหรับลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อบริษัทฯ มี หลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีแล้วไม่ได้รับชำระหนี้และทนายความเสนอ ความเห็นว่าหนี้ดังกล่าวไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่จะฟ้องร้อง (2) กรณีหนี้สำหรับลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อบริษัทฯ ได้ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีโดยมีหลักฐานติดตามทวงถามอย่าง ชัดแจ้ง และไม่ได้รับชำระหนี้ และบริษัทฯ ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้และศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว กรณีตาม (1) และ (2) ถือว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และ เงื่อนไขการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ และตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85)ฯ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 แล้ว 2. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่บุคคลซึ่งได้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน ของผู้อื่นมาขอใช้บริการจากบริษัทฯ โดยมีการปลอมลายมือชื่อของเจ้าของบัตรในคำขอใช้บริการอันเป็น เหตุให้บริษัทฯ ไม่สามารถเก็บค่าบริการได้นั้น เนื่องจากกรณีดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการให้บริการจริง ดังนั้น ถ้าบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมายตามสมควรและมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า บริษัทฯ ถูกฉ้อโกง จริง ถือเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการที่ไม่มีหลักประกัน มิใช่เป็นหนี้สูญจากการ ประกอบกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำผลเสียหายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้ ตามมาตรา 65 แห่ง ประมวลรัษฎากร ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร 3. สำหรับกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกรณีดังกล่าวบริษัทฯ ได้มีการให้บริการจริง ดังนั้น การที่บริษัทฯ ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษี กรณีจึงเป็นการชำระภาษีโดยชอบ ตามมาตรา 78/1(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว การปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวมิใช่เหตุแห่งการ ออกใบลดหนี้ ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร และหนี้จากการให้บริการดังกล่าว ไม่เข้า ลักษณะเป็นหนี้สูญ ตามข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการคำนวณส่วนของหนี้สูญ เพื่อนำมาหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/11 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ดังนั้น หากบริษัทฯ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ ได้ และหากบริษัทฯ ได้มีการดำเนินการตามกฎหมายตามสมควร และมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าบริษัทฯ ถูก ฉ้อโกงจริง บริษัทฯ มีสิทธิยกเลิกการออกใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ |
เลขตู้ | : 66/32415 |