เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4347
วันที่: 13 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีอากรจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545
ข้อหารือ: นาย ล. ได้ขอจดทะเบียนไถ่ถอนจากการจำนองที่ดิน ซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้เมื่อวันที่ 15
สิงหาคม 2537 และขอจดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 2,100,000 บาท
ให้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. ในคราวเดียวกันเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2545 โดยอ้างว่าการจดทะเบียน
ขายรายนี้เป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด พร้อมทั้งแสดง
หลักฐานการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำขึ้นที่ธนาคารฯ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2545 เพื่อขอรับสิทธิ
ประโยชน์ทางค่าธรรมเนียมและภาษีอากร ซึ่งจากเอกสารหลักฐานการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระบุว่า ใน
วันทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2545 ลูกหนี้มีหนี้คงค้างอยู่กับเจ้าหนี้เป็นเงิน
2,415,861.04 บาท แต่ในขณะที่ทำสัญญาโอนอสังหาริมทรัพย์ ลูกหนี้ไม่มีหนี้ค้างชำระอยู่กับเจ้าหนี้
เนื่องจากลูกหนี้ได้ชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับธนาคารฯ เป็นต้นเงินจำนวน 1,256,347.50 บาท
ดอกเบี้ยบางส่วน จำนวน 843,652.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,100,000 บาท เสร็จสิ้นแล้วเมื่อ
วันที่ 26 เมษายน 2545 และธนาคารฯ ยอมรับว่าจำนวนเงินที่ชำระให้ธนาคารฯ ลูกหนี้ได้มาจาก
การขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ดังกล่าวการจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว อยู่
ในหลักเกณฑ์ได้รับการลดค่าธรรมเนียมเหลือร้อยละ 0.01 แต่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรหรือไม่เป็น
อำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร กรมที่ดินจึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาว่าการจดทะเบียนขายที่ดินพร้อม
สิ่งปลูกสร้างดังกล่าว อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีอากรหรือไม่
แนววินิจฉัย: เมื่อสิ้นสุดวันที่ 25 เมษายน 2545 นาย ล. ลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระกับธนาคารฯ ตาม
คำพิพากษาเป็นต้นเงินจำนวน 1,256,347.50 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 1,159,513.54 บาท และลูกหนี้
ได้ชำระหนี้คืนให้ธนาคารฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,100,000 บาทแล้ว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2545
ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระลูกหนี้ขอให้ธนาคารฯ ยกให้ ถือได้ว่า นาย ล. ลูกหนี้ ได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นไป
ก่อนวันทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เกี่ยวกับประเด็นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นว่า
การขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงินเจ้าหนี้นั้น โดยหลักการควรเกิดขึ้นภายหลัง
จากทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว มีผลให้ข้อความในข้อ 5 ของหนังสือรับรองการโอน
อสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ฯ มีสาระสำคัญที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ดังนั้น การโอนขายอสังหาริมทรัพย์
ของนาย ล. ลูกหนี้ จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามมาตรา
8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545
เลขตู้: 66/32413


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020