เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.06)/377
วันที่: 4 เมษายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าจ้างให้แก่นิติบุคคลต่างประเทศ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70, ข้อ 12 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย บริษัทฯ ตกลงทำ
สัญญาว่าจ้าง บริษัท ย. (บริษัทแม่) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น
ให้ทำการวิจัยและพัฒนากรรมวิธีการผลิต รวมทั้งความรู้อื่น ๆ สำหรับการผลิตสินค้าให้กับบริษัทฯ ภายใต้
สัญญาดังกล่าว บริษัท ย. จะนำเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่ตนมีมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา โดยคู่สัญญา
แต่ละฝ่ายจะปกปิดข้อมูลที่ได้รับจากอีกฝ่ายหนึ่ง สำหรับผลการวิจัยและพัฒนาจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ
จึงขอทราบว่า ค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวที่บริษัทฯ จ่ายให้กับบริษัท ย. สำหรับการวิจัยและ
พัฒนากรรมวิธีผลิตสินค้า จะมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้กับ บริษัท ย. สำหรับการวิจัยและ
พัฒนากรรมวิธีผลิตสินค้า ถือเป็นการจ่ายค่าตอบแทนการใช้สูตรหรือกรรมวิธีลับใด ๆ หรือเพื่อข้อสนเทศที่
เกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ เข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิ ตาม
ข้อ 12 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น บริษัท
ฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่ง
ประมวลรัษฎากร เนื่องจากสัญญาดังกล่าวเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Know-how) และเป็นการ
ส่งมอบความรู้และประสบการณ์พิเศษจากการวิจัยและพัฒนาซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อบุคคลโดยทั่วไป (ไม่ว่า
ความรู้นั้นจะอยู่ในรูปแบบที่สามารถจดสิทธิบัตรได้หรือไม่ก็ตาม) และผู้ส่งมอบนั้น ก็มิได้รับประกันว่า
การใช้ความรู้นั้นจะมีผลสำเร็จตามประสงค์หรือไม่ ซึ่งต่างจากความหมายของสัญญาให้บริการ
(Service Agreements) ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ให้บริการตกลงใช้ความชำนาญ “ตามปกติ” เพื่อทำงานให้
คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามที่บริษัทฯ อ้างถึงในหนังสือชี้แจง
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท ย. รับจ้างทำการวิจัยและพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นให้กับบริษัทฯ เพื่อ
นำผลการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวเข้ามาใช้ในประเทศไทย ถือเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มี
การใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ย. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ จึงมี
หน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32405


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020