เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4994
วันที่: 30 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1)(ซ)
ข้อหารือ: นาง ว. ได้หารือเกี่ยวกับผลการพิจารณาของสำนักงานสรรพากรภาค เรื่อง การหักลดหย่อน
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งสำนักงานสรรพากรจังหวัดได้วิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับปีภาษี 2543 ราย นาย ก. และ นาง ว. ซึ่งเป็นคู่สมรสกันได้แจ้งตามแบบแสดงรายการว่า
คู่สมรสมีเงินได้แยกคำนวณภาษีแยกยื่นแบบฯ โดย นาย ก. แสดงเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร จากธนาคารแห่งประเทศไทย นาง ว. แสดงเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรายการหักลดหย่อนทั้งสามีและ
ภริยาได้หักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมคนละ 25,000 บาท จากการวิเคราะห์แบบฯ และตรวจสอบ
หลักฐานที่ใช้ประกอบการหักลดหย่อน ปรากฏว่า หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีชื่อนาย ก. เป็นผู้กู้ยืม
เพียงผู้เดียวและไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่ขอกู้ยืม ส่วนคู่สมรสไม่มีชื่อเป็นผู้กู้ แต่มีชื่ออยู่ใน
ทะเบียนบ้านหลังที่กู้ยืม
แนววินิจฉัย: นาย ก. ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีลูกจ้าง ซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไป
ปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำ จึงไม่มีสิทธิหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้ เนื่องจาก
เป็นการขอหักลดหย่อนและการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือเพื่อสร้าง
อาคารที่อยู่อาศัยในปีภาษี 2543 ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตาม
มาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้
(ฉบับที่ 86)ฯ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้
เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามข้อ 2 (53)ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออก
ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88)ฯ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องใช้
อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดเป็นที่อยู่อาศัยโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วย
การทะเบียนราษฎรในปีที่ขอหักลดหย่อนหรือได้รับยกเว้นภาษี
เลขตู้: 66/32454


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020