เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4932
วันที่: 28 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการส่งพนักงานไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1), มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, มาตรา 50(1), มาตรา 56
ข้อหารือ: ลูกค้าของสำนักงานฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (บริษัทฯ)
ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยโดยมีบริษัทแม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีบริษัทในเครือเดียวกันประกอบกิจการอยู่ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ได้แก่
ประเทศสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เป็นต้น บริษัทฯ ได้ส่ง
พนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ (พนักงาน) เป็นคนไทยตำแหน่งระดับบริหารงานด้านการเงิน ไป
ดำรงตำแหน่งระดับบริหารงานด้านการเงินของบริษัทในเครือ ทั้งนี้ พนักงาน จะต้องไปทำงานประจำอยู่
ณ สิงคโปร์เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยเดินทางไปสิงคโปร์เย็นวันจันทร์เพื่อไปทำงานวันอังคาร ถึง วัน
ศุกร์ และเย็นวันศุกร์จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่ออยู่กับครอบครัว และวันจันทร์ทำงานให้บริษัทฯ
ซึ่งรวมแล้วอยู่ในประทศไทยในปีภาษีเกิน 180 วัน ส่วนงานของพนักงานมีหน้าที่กำกับดูแลบริหารงานด้าน
การเงินให้บริษัทฯ ในอัตราส่วนร้อยละ 25 ของเวลาทำงานทั้งหมด ส่วนเวลาที่เหลือไปกำกับดูแล
บริหารงานด้านการเงินให้บริษัทในเครืออื่น ๆ ซึ่งการทำงานบริหารด้านการเงินของบริษัทในสิงคโปร์
ไม่ได้เป็นการทำงานเพื่อบริษัทฯ แต่เป็นการทำงานเพื่อบริษัทในสิงคโปร์ และบริษัทฯ ได้จ่ายเงินเดือน
ทั้งหมดเข้าบัญชีธนาคารของพนักงานในประเทศไทย โดยบริษัทในสิงคโปร์จะชำระเงินเดือนในอัตราส่วน
ร้อยละ 75 ของเงินเดือนทั้งหมดคืนให้กับบริษัทฯ ซึ่งพนักงานฯ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน
ประเทศสิงคโปร์โดยคำนวณจากเงินได้ร้อยละ 75 ของเงินเดือนทั้งหมด สำนักงานฯ จึงขอทราบว่า
1. พนักงานจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยหรือไม่
2. บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนทั้งหมด หรือ จากร้อยละ 25 ของ
เงินเดือนทั้งหมด
3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เสียให้ประเทศสิงคโปร์ สามารถนำมาเครดิตภาษีใน
ประเทศไทยได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. บริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างในประเทศไทยเป็นผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ให้แก่พนักงาน บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจาก
เงินเดือนทั้งหมดตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร และพนักงานซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้
ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง และมาตรา 56 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. กรณีพนักงานซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้เสียภาษีเงินได้ในประเทศสิงคโปร์ หากเงินได้ใน
ประเทศสิงคโปร์นั้น ผู้มีเงินได้ต้องนำมาเสียภาษีในประเทศไทยด้วย ผู้มีเงินได้มีสิทธินำภาษีเงินได้ที่เสีย
ไว้ในประเทศสิงคโปร์มาเครดิตภาษีเงินได้ที่ต้องเสียในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันนั้นได้ ตามนัยข้อ
23 วรรคสอง ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อ
การเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
เลขตู้: 66/32445


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020