เลขที่หนังสือ | : กค 0706/4695 |
วันที่ | : 22 พฤษภาคม 2546 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีตามมาตรา 48(1)(2) และมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(2)(8), มาตรา 48(1)(2) |
ข้อหารือ | : นาง บ. ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ในราคาประกันกับบริษัทฯ โดยบริษัทฯ เป็นผู้ให้ลูกไก่มาเลี้ยง และในระหว่างการเลี้ยงไก่ บริษัทฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายล่วงหน้าเกี่ยวกับค่าอาหาร ค่ายา และค่า ลูกไก่ เมื่อครบกำหนดระยะเวลา บริษัทฯ จะรับซื้อไก่ที่เลี้ยงโดยคำนวณราคาไก่ตามน้ำหนักในราคา ประกัน และบริษัทฯ จะหักค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ ออกให้ล่วงหน้าในการดำเนินการทั้งหมดออกก่อน ส่วนที่ เหลือสุทธิจึงเป็นเงินได้ที่ นาง บ. ได้รับจากการเลี้ยงไก่ ซึ่งเมื่อนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร ปรากฏว่าไม่มีภาษีที่ต้องชำระ เจ้าหน้าที่จึงคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณจาก ยอดราคาไก่ก่อนหักค่าใช้จ่าย ทำให้มีภาระภาษีที่ นาง บ. ต้องชำระเป็นจำนวนมาก ซึ่ง นาง บ. เห็นว่าไม่เป็นธรรม การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาควรคำนวณจากยอดเงินได้สุทธิหลังจากหัก ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ออกแล้ว |
แนววินิจฉัย | : นาง บ. ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ในราคาประกันกับบริษัทฯ ซึ่งจากลักษณะการดำเนินการบริษัทฯ จะส่งมอบลูกไก่ อาหาร และยา ให้แก่ นาง บ. โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวล่วงหน้า แทน นาง บ. เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าไก่ให้ นาง บ. บริษัทฯ จะหักค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายล่วงหน้าออกจาก ราคาไก่ที่ต้องจ่ายให้ นาง บ. ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกหักออกจากเงินได้ที่ นาง บ. จะได้รับ จึงเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงไก่ เมื่อ นาง บ. เป็นผู้รับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงไก่ การประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ดังกล่าวจึงเป็นการเลี้ยงไก่ไว้เพื่อขาย ดังนั้น เงินได้ที่ นาง บ. ได้รับทั้งสิ้นก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เป็นเงินได้จากการรับจ้างเลี้ยงไก่ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตาม มาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่แนะนำให้ นาง บ. นำเงินได้ค่าไก่ที่ได้รับทั้งสิ้นก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) หรือ (2)แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ก็ให้เสียภาษีตามจำนวน ที่มากกว่านั้น จึงถูกต้องแล้ว |
เลขตู้ | : 66/32433 |