เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4588
วันที่: 20 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเครดิตภาษีเงินปันผล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47 ทวิ, มาตรา 50(2)(จ)
ข้อหารือ: บริษัท ศ. ในฐานะนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่
ผู้ถือหุ้นตามอัตราและประเภทเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์พร้อมกับได้ออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผล โดยที่เงินได้ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์
ที่นำไปจ่ายเงินปันผลได้รวมเงินส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ
หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ดังกล่าว ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
สำหรับผู้ถือหุ้นไว้ในอัตราร้อยละ 10 เช่นเดียวกับการจ่ายเงินปันผลที่จ่ายจากกิจการที่เสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 30 ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้ถือหุ้นไม่สามารถขอเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรได้ ตัวอย่างเช่น
หากบริษัทผู้จ่ายได้จ่ายเงินปันผลจำนวน 100 บาท แยกออกเป็นการจ่ายจากกิจการที่เสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 30 จำนวน 40 บาท และจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้น
ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จำนวน 60 บาท บริษัทฯ หารือว่า
1. บริษัทผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 จากเงิน
จำนวนใด
1.1 กรณีต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเฉพาะจากจำนวน 40 บาท
ผู้รับเงินปันผลมีสิทธิเลือกที่จะนำเงินปันผลรับจำนวน 40 บาท ไปรวมคำนวณกับ
เงินได้ทั้งปีเพื่อยื่น ภ.ง.ด. 90 และสามารถเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้อีก 60 บาท ผู้รับไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ทั้งปี เพื่อยื่น ภ.ง.ด.90
ใช่หรือไม่ หรือจะต้องดำเนินการอย่างไร
1.2 กรณีต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากจำนวน 100 บาท
ผู้รับเงินปันผลมีสิทธิเลือกที่จะนำเงินปันผลไปรวมกับเงินได้ทั้งปีเพื่อยื่น ภ.ง.ด.90
และผู้รับมีสิทธิขอเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จากจำนวน 40 บาท
ใช่หรือไม่
2. กรณีที่บริษัทฯ ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ระบุเงินปันผลจำนวน 100
บาท โดยไม่ได้แยกว่าเป็นเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิใน
อัตราร้อยละ 30 จำนวน 40 บาทไว้ และเป็นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามรูปแบบที่
ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากร ซึ่งผู้รับมีสิทธิขอเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายเงินปันผลตามมาตรา 40(4)(ข) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้จ่ายเงินได้ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณที่จ่าย
ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ตามมาตรา 50(2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้มีเงินได้มีสิทธิ
เลือกไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีสิ้นปีได้ตามมาตรา 48(3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายเงินปันผล ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับ
เงินปันผลได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากเป็นเงินปันผลที่จ่ายจาก
เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535 ผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ ในฐานะนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทผู้จ่ายเงินได้จ่ายเงินปันผล จำนวน
100 บาท ซึ่งบริษัทฯ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ทั้งจำนวน
โดยให้ระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่า เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของ
กิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 40 บาทเท่านั้นที่ผู้มีเงินได้ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ
แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรจำนวน 60 บาท ที่จ่ายจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตาม
พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ผู้มีเงินได้ไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47
ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแต่ย่างใด
เลขตู้: 66/32422


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020