เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3994
วันที่: 29 เมษายน 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน แต่นำเข้าสินค้ายกเว้นและส่งออก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(2)(ก)
ข้อหารือ: บริษัท ค. ประกอบกิจการผลิต ส่งออก ขายปลีก และจำหน่ายอาหารสัตว์ในปี พ.ศ. 2537
บริษัทฯ ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ต่อสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ (เดิม) วันที่ 21
กันยายน 2537 โดยมอบหมายให้สำนักงานบัญชีเป็นผู้ยื่นจดทะเบียนแทน บริษัทฯ เข้าใจว่าสำนักงานบัญชี
ที่บริษัทฯมอบหมายได้ระบุประเภทกิจการลงในแบบ ภ.พ.01 ครบถ้วน รวมถึงการส่งออกด้วย แต่
ปรากฏว่าระบุไว้เพียง 1. ผลิต 2. ขายปลีกและจำหน่ายอาหารสัตว์ โดยมิได้ระบุกิจการ “ส่งออก”
บริษัทฯ จึงได้ว่าจ้างผู้อื่นให้ดำเนินการแจ้งจดทะเบียนเพิ่มเติมประเภทกิจการส่งออกโดยยื่นแบบ
ภ.พ.09 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 พร้อมกับการยื่นหนังสือชี้แจงต่อสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่
(เดิม) เพื่อขออนุมัติให้บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการส่งออกย้อนหลังไปถึงวันที่ 21 กันยายน 2537 ซึ่งเป็น
วันที่บริษัทฯ เริ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาบริษัทฯ ได้นำเข้ายา เคมีภัณฑ์ที่ใช้
สำหรับสัตว์ และอาหารสัตว์จากต่างประเทศเพื่อการจำหน่ายในประเทศ แต่โดยเหตุที่บริษัทฯ ไม่
ประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายสินค้าที่นำเข้ามาดังกล่าว จึงมิได้แจ้งเพิ่มเติมประเภท
กิจการสำหรับการนำเข้าต่ออธิบดีกรมสรรพากร เมื่อบริษัทฯ ขายสินค้าที่นำเข้าบริษัทฯ ก็มิได้
ออกใบกำกับภาษีขายและมิได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าที่นำเข้ามาแต่อย่างใด อีกทั้ง บริษัทฯ
ยังได้ระบุยอดขายจากการจำหน่ายสินค้านั้นลงในแบบ ภ.พ.30 ว่าเป็นยอดขายที่ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย จากพฤติการณ์ต่าง ๆดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ไม่ต้องการที่จะนำ
กิจการนำเข้าสินค้าที่ใช้สำหรับสัตว์เพื่อจำหน่ายในประเทศเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนววินิจฉัย: 1. บริษัทฯ มีฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันที่บริษัทฯ ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ไม่ได้ระบุกิจการ ส่งออกใน
แบบ ภ.พ.01 ก็ตาม ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ทำการส่งออกสินค้า จึงมีสิทธิที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 และมีสิทธิที่จะนำภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับกิจการส่งออกมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ความเข้าใจดังกล่าวของบริษัทฯ ถูกต้อง
2. บริษัทฯ มีสิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากกิจการนำเข้ายาหรือเคมีภัณฑ์ ที่ใช้
สำหรับสัตว์ อาหารสัตว์ เพื่อจำหน่ายในประเทศตามมาตรา 81(2)(ก) ประกอบกับมาตรา 81(1)(ง)
และ (จ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับการจำหน่ายสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยบริษัทฯ ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีขาย และ
ไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าที่นำเข้ามานั้นถูกต้อง
เลขตู้: 66/32380

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020