เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./13047
วันที่: 27 มีนาคม 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า คำนวณภาษีจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ
ในแต่ละเดือนภาษี บริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารสำนักงานจำนวน 19 ชั้น แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน
2542 ได้แจ้งรายการประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร (แบบ ภ.พ.05.1) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539
และได้แจ้งรายการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร (แบบ ภ.พ.05.4) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2542
ได้ระบุพื้นที่อาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 29,426
ตารางเมตร และพื้นที่อาคารให้เช่า 2,301 ตารางเมตร ซึ่งมีเพียงพื้นที่ชั้น 12 และ 13 เท่านั้นที่ให้
เช่าพื้นที่นอกนั้นบริษัทฯ ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของกิจการบริษัทฯ และได้เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนที่ระบุใน
แบบ ภ.พ.05.4 ในการทำสัญญาให้เช่าพื้นที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาให้บริการในบริเวณอาคารเป็นค่าบริการ
ระบบปรับอากาศเย็น ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา และอื่น ๆ
สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ (เดิม) ได้ตรวจสอบการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเห็นว่า
การเฉลี่ยภาษีซื้อไม่ถูกต้อง เนื่องจากพื้นที่ชั้น 10 และ 11 เป็นพื้นที่ว่างสำรองไว้เพื่อขยายกิจการใน
อนาคต และพื้นที่ชั้น 18 เป็นพื้นที่ตั้งของห้องเครื่องปรับอากาศ ห้องเก็บของ และพื้นที่ส่วนกลางเพื่อการ
จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทฯ จึงไม่สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะไม่ได้ใช้เพื่อประกอบกิจการ
ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเกินความจำเป็น บริษัทฯ ต้องยื่นแบบปรับปรุงการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้
ถูกต้อง
บริษัทฯ ได้ชี้แจงสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ (เดิม) ทราบว่า เหตุที่พื้นที่ชั้น 10 และ 11
ยังคงว่างอยู่เพื่อขยายงานในอนาคต ถ้ามีการให้เช่าบริษัทฯ ต้องแก้ไขสัดส่วนพื้นที่สำหรับเฉลี่ยภาษีซื้อ
ค่าก่อสร้างอาคารให้ถูกต้อง ส่วนพื้นที่ชั้น 18 เป็นที่ตั้งของอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบปรับอากาศและเป็นพื้นที่
สำหรับการออกกำลังกายและจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อให้พนักงานได้พบปะร่วมกันถือเป็นประโยชน์
เกื้อกูล และกำหนดไว้ในระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล จึงเป็นพื้นที่
เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยตรง บริษัทฯ จึงหารือว่า การนำพื้นที่ชั้น 10, 11 และ 18
มารวมเป็นพื้นที่ในสัดส่วนของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อใช้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อค่าก่อสร้าง
อาคารสำนักงานเป็นการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ และของดหรือลดเบี้ยปรับ
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นสำนักงานโดยกำหนดให้พื้นที่ชั้น 10 และ 11 เป็นพื้นที่
ว่างสำรองไว้เพื่อขยายกิจการบริษัทฯ ในอนาคต และกำหนดให้พื้นที่ชั้น 18 เป็นพื้นที่ห้องเก็บของของ
บริษัทฯ และพื้นที่ส่วนกลางเพื่อจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อให้พนักงานบริษัทฯ ได้พบปะกัน เป็น
การก่อสร้างอาคารโดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองซึ่ง
เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ย่อมสามารถนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการก่อสร้าง
อาคารพื้นที่ดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
กรณีบริษัทฯ ได้กำหนดให้พื้นที่ชั้น 18 เป็นที่ตั้งของเครื่องปรับอากาศซึ่งบริษัทฯ ได้ใช้
ประกอบกิจการของบริษัทฯ เอง และให้บริการแก่พื้นที่เช่าในชั้น 12 และ 13 การให้บริการระบบ
ปรับอากาศเย็นเข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับ
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การใช้พื้นที่ตั้งของ
เครื่องปรับอากาศที่ให้บริการแก่พื้นที่เช่าและพื้นที่ของบริษัทฯ เอง จึงเป็นการนำพื้นที่ไปใช้ในกิจการที่
เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ย่อมสามารถนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นทั้งหมดจาก
การก่อสร้างอาคารพื้นที่ดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3
แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น พื้นที่ชั้น 10, 11 และ 18 จึงเป็นพื้นที่ที่นำไปใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม
บริษัทฯ ต้องนำไปรวมเป็นพื้นที่ในส่วนของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเฉลี่ยภาษีซื้อต่อไป ตาม
หลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ
เลขตู้: 66/32352

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020