เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4000
วันที่: 29 เมษายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีหักกลบลบหนี้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(3)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และรับจ้างซ่อมรถยนต์ มีรายได้และ
รายจ่ายจากการประกอบกิจการดังต่อไปนี้
1. บริษัทฯ มีรายได้ค่าบริการจาก บริษัท T ในปี 2540 ตามแบบ ภ.ง.ด.50 เป็น
จำนวนเงินรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 408,333,964.51 บาท แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้รับชำระเงินค่าบริการ โดย
ตั้งเป็นลูกหนี้การค้า ราย T ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ได้นำยอดค่าบริการดังกล่าวมายื่นแบบ ภ.พ.30 ในปี
2540 แต่อย่างใด ในขณะเดียวกันบริษัทฯ มีเจ้าหนี้เงินทดรองจ่ายจำนวน 954,606.63 บาท ค่าเช่า
รถผู้บริหารค้างจ่ายจำนวน 2,400,000 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มค้างจ่ายจำนวน 305,454.56 บาท
รวมเป็นเจ้าหนี้เงินทดรองจ่ายและค่าใช้จ่ายค้างจ่ายจำนวน 3,660,061.19 บาท ซึ่งบริษัทฯ ยังไม่ได้
ชำระให้แก่ T และตั้งเป็นเจ้าหนี้ ราย T
2. บริษัทฯ ทำสัญญาบริการจัดจำหน่ายกับ C ซึ่งเป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ
สิงคโปร์ บริษัทฯ มีรายจ่ายต้นทุนค่าบริการในการส่งพนักงานไปอบรมด้านการตลาดที่ประเทศสิงคโปร์
เป็นจำนวนเงินรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 282,656,573.69 บาท โดยบริษัทฯ ยังไม่ได้ชำระค่าบริการ
ดังกล่าว และตั้งเป็นเจ้าหนี้การค้า ราย C
3. ต่อมา T ได้ถูกฟ้องล้มละลาย บริษัท H ซึ่งเป็นบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ในประเทศ
สหรัฐอเมริกาได้ให้ C ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบบริษัทในเครือภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค และเป็นเจ้าหนี้ของ
บริษัทฯ ตาม 1.2 เข้ามารับโอนสิทธิเรียกร้องในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจาก T โดยบริษัทฯ ได้ใช้
วิธีหักกลบลบหนี้ กล่าวคือ
4. บริษัทฯ นำเจ้าหนี้ T จำนวน 3,660,061.19 บาท มาหักออกจากลูกหนี้ T จำนวน
408,333,964.51 บาท คงเหลือลูกหนี้ T จำนวน 404,673,903.32 บาท
5. บริษัทฯ นำลูกหนี้ T ที่เหลือจากการหักกลบลบหนี้ จำนวน 404,673,90 3.32 บาท มา
หักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้ C จำนวน 282,656,573.69 บาท คงเหลือลูกหนี้ T จำนวน
122,017,329.63 บาท และ C ได้จ่ายเงินเพิ่มให้บริษัทฯ อีกเป็นจำนวน 107,694,300.74 บาท
ส่วนที่เหลืออีก 14,323,028.89 บาท บริษัทฯ ได้ปรับปรุงยอดดังกล่าวเป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ นำยอดลูกหนี้ค่าบริการ T จำนวน 408,333,964.51 บาท มาหักกลบลบหนี้
กับยอดเจ้าหนี้เงินทดรองจ่ายและค่าใช้จ่ายค้างจ่าย T จำนวน 3,660,061.19 บาท ถือได้ว่าบริษัทฯ
ในฐานะเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าบริการบางส่วนแล้วจากลูกหนี้ T เป็นเงิน 3,660,061.19 บาท บริษัทฯ
ต้องนำรายได้ค่าบริการดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบ ภ.พ. 30 สำหรับเดือนภาษี
ที่มีการหักกลบลบหนี้นั้น ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ในฐานะลูกหนี้ได้ชำระคืนเงินทดรองจ่ายและค่าใช้จ่าย
ค้างจ่ายจำนวน 3,660,061.19 บาท ให้แก่เจ้าหนี้ T ครบถ้วนแล้ว และเนื่องจากเงินจำนวน
3,660,061.19 บาท ที่ชำระให้แก่เจ้าหนี้ T มีค่าเช่ารถรวมอยู่ด้วยเป็นเงิน 2,400,000 บาท ดังนั้น
เมื่อบริษัทฯ ได้ชำระค่าเช่ารถให้แก่ T บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 6 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และยื่นรายการภาษีเงินได้
หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 ตามข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้
(ฉบับที่ 16) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525
2. กรณีบริษัทฯ นำลูกหนี้ T จำนวน 404,673,903.32 บาท มาหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้ C
จำนวน 282,656,573.69 บาท ถือได้ว่าบริษัทฯ ได้ชำระหนี้ค่าบริการกรณีส่งพนักงานไปอบรมด้าน
การตลาดที่ประเทศสิงคโปร์ให้แก่ C แล้ว และโดยที่การอบรมดังกล่าวอยู่ภายใต้สัญญาบริการจัดจำหน่าย
ที่บริษัทฯ ได้ทำกับ C โดยสัญญาดังกล่าวได้ระบุข้อกำหนดและเงื่อนไขให้ C ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทฯ
ในการปฏิบัติตามภาระผูกพันของบริษัทฯ ที่บริษัทฯ ต้องช่วยเหลือ T ตามสัญญาให้บริการผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ
รถยนต์ที่บริษัทฯ ได้ทำไว้กับ T ในด้านการตลาด การโฆษณา การขายสินค้า การซ่อมแซม และการ
บริการเกี่ยวกับสินค้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยานยนต์เฉพาะการจ่ายค่าบริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิซึ่ง
เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการ
ดังกล่าวให้แก่ C ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงมีหน้าที่หักภาษี
จากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 12 ของ
อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อการเว้นการเก็บ
ภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 18)พ.ศ. 2505 และบริษัทฯ มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการ
ดังกล่าว ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32386


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020