เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.04)/373
วันที่: 4 เมษายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 10
ข้อหารือ: การขอให้กรมสรรพากรแยกกลุ่มบริษัทที่ไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีและแจ้งรายชื่อ
ให้ทราบ ว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว จะขัดต่อมาตรา 10 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่
แนววินิจฉัย: ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 4 บัญญัติว่า“ข้อมูล
ข่าวสารของราชการ” หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของ
หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ
เอกชน และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะ
อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดย
คำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชน
ที่เกี่ยวข้องประกอบกัน
……………….
(6) ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มา
โดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น
……………….”
กรณีตามข้อเท็จจริง ข้อมูลรายชื่อบริษัทที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเป็นข้อมูลที่อยู่ใน
ความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ จึงเข้าลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการ ตาม
มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 แต่เนื่องจากการแจ้งข้อมูลว่าบริษัทใดไม่ได้ยื่น
แบบแสดงรายการชำระภาษีอากรนั้น ถือว่าเป็นการแจ้งถึงความน่าเชื่อถือของกิจการหรือธุรกิจ อันเป็น
การแสดงว่ากิจการของบริษัทนั้นปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เข้าลักษณะเป็นการเปิดเผยกิจการของ
ผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง จึงต้องห้ามมิให้เจ้าพนักงานเปิดเผยตามมาตรา 10 แห่ง
ประมวลรัษฎากร เข้าลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย ตามมาตรา
15 (6) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ดังนั้น กรมสรรพากรจึงไม่สามารถ
แจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ทราบได้ เว้นแต่มีอำนาจที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย
เลขตู้: 66/32376


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020