เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3982
วันที่: 29 เมษายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ของครูอังกฤษ ภายใต้อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
ข้อหารือ: ผู้อุทธรณ์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2541 และขอใบอนุญาตทำงาน
ในอาชีพครู ณ โรงเรียนนานาชาติตามใบอนุญาตลงวันที่ 16 ธันวาคม 2541 โดยมีการทำสัญญาจ้างสอน
เป็นหนังสือจำนวน 2 ฉบับ คือ หนังสือฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2541 มีระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 1
กันยายน 2543 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2545 โดยมีการต่อใบอนุญาตทำงานถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2545
ผู้อุทธรณ์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยชี้แจ้งในคำอุทธรณ์ไว้
ว่า ผู้อุทธรณ์ได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้ที่ได้จากการสอนหนังสือใน
ประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี คือ เงินได้จากการสอนหนังสือที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 1 กันยายน
2541 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ตามสัญญาจ้างสอนหนังสือฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2541 ตามนัยของ
ข้อ 21 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ดังนั้น การที่ผู้อุทธรณ์มิได้นำเงินได้ดังกล่าวมารวม
คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2543 จึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องและ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2543 ที่ผู้อุทธรณ์ชำระไว้แล้วนั้น จึงเป็นการชำระภาษีที่ครบถ้วน
ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สำนักงานสรรพากรภาคจึงหารือว่า ผู้อุทธรณ์จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก
เงินได้สำหรับการสอนดังกล่าว หรือไม่
แนววินิจฉัย: เนื่องจากผู้อุทธรณ์ได้ทำสัญญาจ้างสอนเป็นหนังสือจำนวน 2 ฉบับ คือ หนังสือฉบับแรก ลงวันที่
1 กันยายน 2541 มีระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2545 ซึ่งมี
ระยะเวลาต่อเนื่องจากสัญญาฉบับแรก กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ผู้อุทธรณ์เข้ามาเยือนประเทศไทยเพื่อ
ความมุ่งประสงค์ในการสอน เป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี นับจากวันที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
เป็นครั้งแรก ผู้อุทธรณ์จึงไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศไทย สำหรับค่าตอบแทนจาก
การสอนตามข้อ 21 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ และมาตรา 3 แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และผู้อุทธรณ์มีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนจากการสอนหนังสือ
ที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 16 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ตั้งแต่แรกที่เข้า
เยือนประเทศไทย
เลขตู้: 66/32379

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020