กฎกระทรวง
ฉบับที่ 202 (พ.ศ. 2539)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 65 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 8 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ข้อ 8 บริษัทใดจัดสรรหรือสำรองเงินไว้เพื่อจ่ายในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานและได้นำเงินจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กำหนดในข้อ 3แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 หรือตามข้อ 3 ทวิ หรือข้อ 3 ตรี แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ให้ถือว่าเงินที่บริษัทได้จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เป็นการจ่ายสมทบเข้ากองทุนทั้งหมดในครั้งเดียว ให้ถือเป็นรายจ่ายได้ห้ารอบระยะเวลาบัญชีรอบละเท่า ๆ กัน โดยให้เริ่มนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรับจดทะเบียนกองทุนเป็นต้นไป เว้นแต่กรณีตามข้อ 3 ตรี แห่งกฎกระทรวงดังกล่าว ให้เริ่มนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อนุมัติให้นำเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างเข้ากองทุนเป็นต้นไป
( 2) ในกรณีที่เป็นการจ่ายสมทบเข้ากองทุนไม่หมดในครั้งเดียว ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนให้หมดภายในสิบครั้งหรือสิบรอบระยะเวลาบัญชี โดยแต่ละครั้งหรือแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีต้องจ่ายสมทบอย่างน้อยเท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทจัดสรรหรือสำรองไว้หารด้วยจำนวนปี และเงินที่จ่ายสมทบนั้นให้ถือเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนดังกล่าว
ให้ไว้ ณ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2539
บดี จุณณานนท์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
___________________________________________________________________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดสรรหรือสำรองเงินไว้เพื่อจ่ายในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ใช้บังคับ แต่ยังมิได้นำมาจดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือยังมิได้นำเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้ขอจดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพ.พ.ศ. 2530 นำเงินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือนำเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วให้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
(ร.จ.ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 113 ตอนที่ 40 ก วันที่ 24 กันยายน 2539)