เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2057
วันที่: 3 มีนาคม 2546
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีรายรับจากการขายบัญชีลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/21(6), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์
ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของ
กรรมสิทธิ์ หรือเช่าซื้อ
2. บริษัทฯ เป็นสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ และมีคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูป
ระบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เข้าควบคุมการดำเนินการ บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ธ.40 แสดงรายรับโดย
ใช้เกณฑ์เงินสดในเดือนภาษีพฤษภาคม 2542 มีรายรับดังนี้
2.1 รายรับจากการชำระหนี้จากลูกค้าสินเชื่อรายเก่าของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้
รับชำระหนี้เป็นเงินสด
2.2 รายรับจากการขายลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันการเงิน
(บบส.) บริษัทฯ ได้รับชำระเงินงวดแรกสำหรับสินเชื่อธุรกิจเป็นเงินสดและตั๋วสัญญาใช้เงิน บริษัทฯ
คำนวณฐานภาษีในการยื่นแบบ ภ.ธ.40 โดยนำเงินงวดแรกที่ได้รับชำระทั้งเงินสดและตั๋วสัญญาใช้เงินมา
เฉลี่ยเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัดส่วนระหว่างจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยของลูกหนี้แต่ละรายแล้วนำ
ดอกเบี้ยที่คำนวณได้มาเป็นรายรับในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
2.3 รายรับจากการขายสินเชื่อธุรกิจให้กับกองทุนรวมฯ บริษัทฯ คำนวณฐานภาษีในการ
ยื่นแบบ ภ.ธ.40 โดยนำราคาซื้อหักสำรองการชดใช้คืนคงเหลือรับสุทธิ และนำมาเฉลี่ยเงินต้นและ
ดอกเบี้ยตามสัดส่วนระหว่างจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยของลูกหนี้แต่ละราย แล้วนำดอกเบี้ยที่คำนวณได้มา
เป็นรายรับในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
3. ตามข้อ 6 ของหนังสือตอบข้อหารือ ที่ กค 0811/09865 ลงวันที่ 20 กันยายน 2542
เรื่อง ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายลูกหนี้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการสรุปความว่า ผู้ขาย
จะต้องยึดวันที่ตามใบเสร็จรับเงินเป็นเดือนภาษีที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า
บริษัทฯ ได้ออกใบเสร็จรับชำระราคาการขายลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจส่วนที่ได้รับเป็นเงินสดโดยออก
ใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 31 มีนาคม 2542 และวันที่ 30 เมษายน 2542 แต่นำมารวมคำนวณรายรับ
เดือนพฤษภาคม 2542 ทำให้รายรับในเดือนพฤษภาคมสูงไปและรายรับเดือนมีนาคมและเมษายน 2542
ขาดไปตามรายละเอียดดังนี้
เดือนมีนาคม 42 แสดงรายรับขาดไป 369,191.79 บาท
เดือนเมษายน 42 " 5,863,003.76 บาท
เดือนพฤษภาคม 42 แสดงรายรับเกินไป 6,232,195.54 บาท
เมื่อบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ธ.40 แสดงรายรับขาดไปในเดือนภาษีดังกล่าวบริษัทฯ จึงมี
ความรับผิดต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจาก
บริษัทฯ ได้นำรายรับของเดือนภาษีมีนาคมและเดือนภาษีเมษายน 2542 มารวมคำนวณเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะในเดือนภาษีพฤษภาคม 2542 ไว้แล้วตามแบบ ภ.ธ.40 ที่ได้ยื่นวันที่ 14 มิถุนายน
2542
4. ขอหารือว่า
4.1 บริษัทฯ จะต้องรับผิดชำระภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตาม
มาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2542 และเดือนภาษีเมษายน 2542
หรือไม่
4.2 หากบริษัทฯ ต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติม บริษัทฯ จะได้รับการพิจารณางดเบี้ยปรับ
และเงินเพิ่มตามข้อ 12 ของหนังสือที่ กค 0811/09865 ลงวันที่ 20 กันยายน 2542 หรือไม่และ
คำนวณระยะเวลาการคิดเงินเพิ่มอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 ชำระภาษีเพิ่มเติมสำหรับเดือนภาษีมีนาคม
2542 และเดือนภาษีเมษายน 2542 และรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 91/21(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรจึงงดเบี้ยปรับ
ให้ตามข้อ 11 และข้อ 13 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ฯ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.
2542
2. สำหรับเงินเพิ่ม เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้ยื่นแบบ ภ.ธ.40 เพิ่มเติมชำระภาษีสำหรับ
เดือนภาษีมีนาคมและเดือนภาษีเมษายน แต่ได้นำรายรับเดือนภาษีมีนาคมและเดือนภาษีเมษายนรวม
คำนวณกับรายรับเดือนภาษีพฤษภาคมเพื่อยื่นแบบ ภ.ธ.40 ตามปกติสำหรับเดือนภาษีพฤษภาคมเพื่อชำระ
ภาษีเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2542 จึงมิใช่เป็นการยื่นแบบ ภ.ธ.40 ชำระภาษีเพิ่มเติมสำหรับรายรับใน
เดือนภาษีมีนาคมและเดือนภาษีเมษายนภายในเดือนกันยายน 2542 ดังนั้น บริษัทฯ ต้องเสียเงินเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้
มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีระยะเวลาการคิด
เงินเพิ่ม ดังนี้
(1) รายรับตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 31 มีนาคม 2542 คิดเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 16
เมษายน 2542 จนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี
(2) รายรับตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 30 เมษายน 2542 คิดเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 16
พฤษภาคม 2542 จนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี
เลขตู้: 66/32289

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020