เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3023
วันที่: 26 มีนาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีประกอบกิจการออกแบบจำหน่ายและติดตั้งสาธารณูปโภค
ข้อกฎหมาย: มาตรา 69 ทวิ
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล ประกอบกิจการในการออกแบบ
จำหน่ายและติดตั้งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2540 บริษัทฯ ส่งตัวแทนเข้ามา
ประมูลโครงการวางระบบส่งกระแสไฟฟ้าและการพัฒนาสถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้า บริษัทฯ ชนะการ
ประมูลและได้ทำสัญญากับการไฟฟ้า ซึ่งในขณะทำสัญญา บริษัทฯ ไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการใด ๆ
ในประเทศไทย ตามสัญญาดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องดำเนินงานโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. ส่วนงานที่ต้องจัดทำในต่างประเทศ บริษัทฯ จะเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ และให้
การไฟฟ้าเป็นผู้นำเข้าวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าว ตามสัญญาตกลงให้กรรมสิทธิ์ของวัสดุอุปกรณ์ที่การไฟฟ้านำเข้า
ตกเป็นของการไฟฟ้าเมื่อของที่นำเข้าได้บรรทุกลงเรือในต่างประเทศ สำหรับการชำระเงินค่าวัสดุที่
นำเข้า การไฟฟ้าจะชำระค่าวัสดุอุปกรณ์โดยแบ่งชำระเป็น 3 งวด ดังนี้
- งวดแรกเป็นการชำระเงินล่วงหน้าเมื่อมีการส่งใบแจ้งหนี้พร้อมกับหนังสือ ค้ำประกันแก่
การไฟฟ้า
- งวดที่สองจะชำระเงินเมื่อได้มีการส่งของลงเรือที่ท่าเรือต้นทางในต่างประเทศ
- งวดที่สามจะชำระเงินเมื่อการไฟฟ้าได้ออกหนังสือรับรองการยอมรับของชั่วคราวแล้ว
2. ส่วนงานในประเทศจะดำเนินการโดยสาขาของบริษัทฯ ในประเทศไทย ที่ตั้งขึ้นภายหลัง
จากการทำสัญญากับการไฟฟ้าแล้ว โดยสาขาของบริษัทฯ จะจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศเพื่อทำ
การก่อสร้างส่วนของงานในประเทศให้เป็นไปตามแบบและให้แล้วเสร็จในกำหนดเวลาตามสัญญา จำนวน
540 วัน นับจากวันเซ็นสัญญา
บริษัทฯ เห็นว่าในส่วนของเงินได้ที่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ที่บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาในต่างประเทศและ
ให้การไฟฟ้าเป็นผู้นำเข้า บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากเงินได้ดังกล่าว เข้า
ลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจซึ่งบริษัทฯ มิได้กระทำการผ่านทางสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึง
ได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 7 วรรคแรก ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลแห่ง
ประเทศอิสราเอล เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี
เก็บจากเงินได้ โดยบริษัทฯ ได้เทียบเคียงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่ กค 0802/9222
ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 ฉะนั้น เมื่อการไฟฟ้าชำระค่าวัสดุอุปกรณ์ที่สั่งจากต่างประเทศให้บริษัทฯ
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละหนึ่ง ตามมาตรา 69 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด บริษัทฯ จึงหารือว่าความเห็นดังกล่าวของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: ตามสัญญาดังกล่าว ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายติดตั้งและก่อสร้างที่ประสงค์จะ
แยกราคาทรัพย์ที่ซื้อขายออกต่างหากจากค่าสินจ้าง แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญารับจ้างทำของที่รวมราคา
ค่าอุปกรณ์ การขนส่ง ค่าติดตั้ง และงานก่อสร้าง (ทั้งในส่วนภายในประเทศและนอกประเทศ) เป็น
ราคารวมตามสัญญา ทั้งนี้ ปรากฏข้อความตามข้อ 2 แห่งสัญญา นอกจากนี้ในสัญญาก็ไม่ได้กำหนดให้
กรรมสิทธิ์ในสินค้าโอนมาให้การไฟฟ้า ในทันทีที่วัสดุอุปกรณ์ถูกขนลงเรือ ณ ท่าเรือในประเทศอิสราเอล
หรือเมื่อส่งมอบหน้าโรงงานแต่อย่างใด ตามสัญญาฯ เพียงกำหนดให้การไฟฟ้ามีหน้าที่ต้องจัดหาใบอนุญาต
ที่จำเป็นทุกชนิดและใบอนุญาตสำหรับการนำเข้าสินค้ามายังประเทศไทย และเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายทุก
ประเภท สำหรับการดำเนินพิธีการศุลกากรและอากรขาเข้าและภาษีอื่น ๆ ที่ประเทศไทยจัดเก็บ ณ
ท่าเรือที่นำสินค้าเข้า สำหรับสินค้าที่จัดหาโดยผู้รับจ้างและนำเข้ามาในประเทศไทยที่จะใช้และติดตั้งเป็น
การถาวร สำหรับงานภายใต้สัญญานี้ (ปรากฏข้อความตามส่วน 5 ข้อ 4 แห่งคำเชิญเข้าร่วมประมูล)
ซึ่งข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการไฟฟ้าเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและจัดการเกี่ยวกับพิธีการ
นำเข้าเท่านั้น บริษัทฯ มีหน้าที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาใช้ในงานที่ประมูลได้
ดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไป ดังนั้น กระบวนการตั้งแต่จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ จึงถือเป็นส่วน
หนึ่งของงานบริการที่ทำในประเทศไทย และการที่บริษัทฯ มีโครงการประกอบการติดตั้งดำรงอยู่เกิน 6
เดือน กรณีจึงถือได้ว่า บริษัทฯ ได้ให้บริการดังกล่าว โดยผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย
ตามข้อ 5 วรรคสอง (ก) ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งประเทศ
อิสราเอล เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำค่าก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ระบบส่ง
กระแสไฟฟ้าทั้งหมดตามสัญญามารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อการไฟฟ้าจ่าย
เงินตามสัญญาไม่ว่าในงวดหนึ่งงวดใดก็ตามให้บริษัทฯ การไฟฟ้าจึงต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย
ในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ กรณีข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ตรงตาม
ข้อเท็จจริงในหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่ กค 0802/9222 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2536
และไม่ตรงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2540 แต่อย่างใด
เลขตู้: 66/32349


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020