เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.08)/313
วันที่: 24 มีนาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับโอนหนี้เงินกู้และตั๋วสัญญาใช้เงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 65 ทวิ (4)
ข้อหารือ: บริษัทเงินทุน ธ. ได้หารือว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 บริษัทฯ ได้รับโอนสิทธิเรียกร้อง
ในหนี้เงินกู้จากบริษัทเงินทุน ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ ราย บริษัท ส. จำนวน 48,800,000 บาท
บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้เป็นเงินจำนวน 19,900,000 บาท บริษัทฯ
ได้นำส่วนต่างระหว่างราคามูลหนี้กับราคาซื้อหนี้สุทธิรวมทั้งผลประโยชน์และค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้รับหรือ
พึงได้รับมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับการโอนหนี้
แล้ว ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 บริษัทฯ ขายหนี้เงินกู้ราย
ดังกล่าวให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ อ. ในราคา 15,992,000 บาท บริษัทฯ จึงหารือว่าความเห็นของ
บริษัทฯ ดังต่อไปนี้ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทเงินทุน ท. ได้โอนขายสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่มีอยู่กับบริษัท ส. ลูกหนี้ ให้
แก่บริษัทฯ โดยได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าจำนวนมูลหนี้เงินกู้ที่โอนให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯผู้รับโอน
สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ต้องนำส่วนต่างระหว่างราคามูลหนี้ (ยอดลูกหนี้คงค้าง) กับราคาซื้อสุทธิมารวม
คำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามสัดส่วน
ของหนี้ที่ถึงกำหนดชำระในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
2. กรณีบริษัทฯ ได้โอนขายสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่ได้รับซื้อมาตาม 1. ให้แก่บริษัทอื่นใน
ราคาที่สูงหรือต่ำกว่าราคาที่รับซื้อมา หากการโอนขายสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ดังกล่าวมีค่าตอบแทน
ต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดได้ตามมาตรา 65
ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และในกรณีที่บริษัทฯ ให้ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเป็นผู้ประเมินราคา
ค่าตอบแทนจากการโอนขายสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้นั้น ค่าตอบแทนดังกล่าวยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็น
ราคาตลาดหรือไม่
เลขตู้: 66/32346


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020