เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2985
วันที่: 26 มีนาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบธุรกิจระบบ Pool (เงินกองกลาง)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65
ข้อหารือ: บริษัท ว. ได้ดำเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดและด้านบัตรอภิสิทธิ์ ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถ
นำบัตรไปแสดง ณ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเพื่อขอใช้สิทธิในรูปของคะแนนสะสมตามส่วนเปอร์เซ็นต์ที่
ร้านค้าตกลงและยินยอมให้กับผู้ถือบัตร (1 คะแนนมีมูลค่าเท่ากับ 1 บาท) และสามารถนำคะแนนสะสม
ไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าหรือบริการหรือใช้เป็นส่วนลดค่าสินค้าหรือบริการ ณ ร้านค้าใดก็ได้ที่
เข้าร่วมโครงการซึ่งโครงการบัตรอภิสิทธิ์ที่บริษัทฯ ได้จัดทำขึ้นนี้ ในส่วนของ บริษัทฯ และร้านค้าที่
เข้าร่วมโครงการเรียกว่า ระบบ Pool (เงินกองกลาง) โดยบริษัทฯ ดำเนินการติดต่อร้านค้าที่ดำเนิน
ธุรกิจขายสินค้าหรือบริการ และทำสัญญาข้อตกลงในเรื่องผลประโยชน์ที่ร้านค้าจะได้รับและค่าใช้จ่ายที่
ต้องเสียให้กับโครงการนี้ บริษัทฯ จะเป็นผู้หาสมาชิกโดยดำเนินการดังนี้
1. บริษัทฯ เป็นผู้จัดทำบัตรอภิสิทธิ์ขึ้นมาและมอบให้กับลูกค้าผู้ถือบัตร รายได้ของบริษัทฯ
ได้แก่ค่าธรรมเนียมแรกเข้าของสมาชิกบัตรและค่าธรรมเนียมรายปีในการถือบัตรของลูกค้าเท่านั้น
2. บริษัทฯ มิได้รับผลประโยชน์จากเงินที่เข้ามาและจ่ายออกในระบบ Pool (เงินกองกลาง)
บริษัทฯ มีหน้าที่ดูแล ตรวจสอบ โอนเงิน รับเงินเข้าบัญชีและจัดทำรายงานทางการเงินของระบบ
Pool ให้กับร้านค้าสมาชิกในโครงการเท่านั้น
3. บริษัทฯ จะทำการเปิดบัญชีธนาคารของระบบ Pool ในนามของบริษัทฯ ประเภท
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพื่อใช้ในการโอนเงินเข้าออกของสมาชิกร้านค้า เมื่อลูกค้าผู้ถือบัตรอภิสิทธิ์ไปซื้อ
สินค้า ผู้ถือบัตรจะได้คะแนนสะสมจากร้านค้าสมาชิกโดยร้านค้าจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเท่ากับคะแนน
ที่ให้และดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับดังกล่าวเป็นเงินได้ของระบบ Pool
4. ระยะเวลาของการเป็นสมาชิกของร้านค้าในระบบ Pool ขึ้นอยู่กับการทำสัญญากับบริษัทฯ
และสิ้นสุดสัญญาเมื่อสัญญาครบกำหนดและกรณีร้านค้าไม่ต่อสัญญาใหม่กับบริษัทฯ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่
ร้านค้ามอบให้กับสมาชิกบัตรจะถือเป็นการสิ้นสุดของสัญญา และบริษัทฯ จะทำเอกสารแจ้งให้ร้านค้าทราบ
ทั้งยอดสุทธิของคะแนนสะสมที่ร้านค้าต้องชำระให้กับระบบ Pool หรือรับคืนจากระบบ Pool
5. คะแนนสะสมของสมาชิกบัตรมีระยะเวลาตามที่แจ้งไว้ในเอกสารสัญญาระหว่างบริษัทฯ
และสมาชิกบัตรโดยกำหนดให้คะแนนสะสมของสมาชิกบัตรหมดอายุเมื่อครบกำหนด 13 เดือนนับจากวันที่
บริษัทฯ ออกบัตรให้แก่สมาชิก กรณีสมาชิกบัตรมิได้ต่ออายุบัตรใหม่ให้ถือว่าสมาชิกบัตรได้สละสิทธิ
ประโยชน์ต่าง ๆ ของคะแนนสะสม
บริษัทฯ หารือว่า
1. จำนวนเงินที่ร้านค้าตกลงให้คะแนนสะสมแก่ลูกค้าผู้ถือบัตรและยินยอมโอนคะแนนสะสม (ที่
มีมูลค่าเสมือนเงินสด) เข้ามาในระบบ Pool (เงินกองกลาง) ถือเป็นรายได้ของ Pool หรือไม่ และ
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
2. จำนวนเงินที่ระบบ Pool (เงินกองกลาง) จ่ายคืนให้กับร้านค้าสมาชิกในการที่สมาชิก
บัตรนำคะแนนสะสมมาแลกซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าสมาชิกนั้น ถือเป็นรายได้ของร้านค้าหรือไม่
และเป็นค่าใช้จ่ายของระบบ Pool หรือไม่ และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. การที่บริษัทฯ ทำสัญญากับร้านค้าสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการขายสินค้าหรือให้บริการแก่
สมาชิกผู้ถือบัตรอภิสิทธิ์ของบริษัทฯ โดยร้านค้าสมาชิกจะส่งเงินเข้าระบบ Pool ถือเป็นเงินได้ของบริษัทฯ
ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการตามมาตรา
77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. กรณีร้านค้าที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการได้รับเงินจากระบบ Pool ร้านค้าสมาชิกผู้ขาย
หรือผู้ให้บริการจะต้องออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าผู้ถือบัตรอภิสิทธิ์เมื่อความรับผิด
ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 78 และมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32341

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020