เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2791
วันที่: 20 มีนาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณกำไรสุทธิและการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 66, มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 260) พ.ศ. 2535, ประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535, ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อหารือ: สมาคมธนาคารต่างชาติแจ้งว่า สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ได้มีหนังสือซ้อมความเข้าใจ
กรณีการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับ
อนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ โดยหนังสือฉบับดังกล่าวได้กล่าวถึงกรณีกิจการวิเทศธนกิจมีการโอน
ลูกหนี้ด้อยคุณภาพไปยังธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้นในประเทศไทย ให้กิจการ
วิเทศธนกิจรับรู้ส่วนสูญเสียในบัญชีของกิจการวิเทศธนกิจ และห้ามนำผลขาดทุนจากการโอนลูกหนี้ดังกล่าว
ไปรวมคำนวณกับกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิจากการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์อื่นโดยถือเสมือนหนึ่ง
เป็นคนละนิติบุคคล และให้ธนาคารพาณิชย์แยกการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการ
ธนาคารพาณิชย์กับกิจการวิเทศธนกิจออกจากกัน โดยกำไรหรือขาดทุนจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากกิจการ
วิเทศธนกิจต้องถือเป็นกำไรหรือขาดทุนของกิจการวิเทศธนกิจเท่านั้น ซึ่งสมาคมฯ มีความเห็นว่า
แนวทางปฏิบัติตามที่สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่แจ้งให้ทราบดังกล่าว ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดรองรับ
จึงหารือเพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกของสมาคมฯ ถือปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป ดังนี้
1. การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการ
วิเทศธนกิจ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ฉบับ คือฉบับที่เสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 สำหรับกิจการวิเทศธนกิจ และฉบับที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใน
อัตราร้อยละ 30 สำหรับกิจการธนาคารพาณิชย์ หรือ
2. การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการ
วิเทศธนกิจจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ฉบับ คือ ฉบับที่เสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 สำหรับกิจการวิเทศธนกิจ ฉบับที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา
ร้อยละ 30 สำหรับกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการวิเทศธนกิจซึ่งไม่ได้รับการลดอัตราภาษีเหลือร้อยละ 10
และฉบับที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 สำหรับกิจการธนาคารพาณิชย์
แนววินิจฉัย: 1. ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ต้องแยกการคำนวณกำไรสุทธิระหว่างกิจการธนาคารปกติกับกิจการธนาคารที่เป็นวิเทศธนกิจ ตามข้อ 2
ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการ
วิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ประกอบกับข้อ 2 ของ
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16
กันยายน พ.ศ. 2535
2. ธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่ต้องคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการ
ธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียภาษีในอัตราที่ระบุ
ไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้
3. กรณีธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ประกอบกิจการวิเทศธนกิจทั้งที่ได้รับการ
ลดอัตราภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเหลือร้อยละ 10 และกิจการวิเทศธนกิจที่ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิใน
อัตราปกติ ธนาคารพาณิชย์ต้องคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการวิเทศธนกิจแต่ละกิจการแยก
ต่างหากจากกัน และห้ามมิให้นำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีของกิจการหนึ่งไปหักออกจาก
กำไรสุทธิของอีกกิจการหนึ่ง ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 260) พ.ศ. 2535
ประกอบกับข้อ 1(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 47)ฯ ลงวันที่ 29
มีนาคม พ.ศ. 2536
4. กรณีการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ธนาคารพาณิชย์ที่
ประกอบกิจการวิเทศธนกิจต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ดังนี้
(1) ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับกิจการธนาคารพาณิชย์ จำนวน 1 ฉบับ
(2) ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับกิจการวิเทศธนกิจที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้เหลือ
ร้อยละ 10 จำนวน 1 ฉบับ
(3) ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับกิจการวิเทศธนกิจที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ จำนวน 1
ฉบับ
เลขตู้: 66/32324


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020