เลขที่หนังสือ | : กค 0706/2565 |
วันที่ | : 17 มีนาคม 2546 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจ่ายค่าสินค้าและค่าบริการไปต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 70, มาตรา 40(8), มาตรา 40(2), มาตรา 41 วรรคหนึ่ง |
ข้อหารือ | : 1. บริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท MES ซึ่งเป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ สิงคโปร์ โดย MES ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ แต่อย่างใดทั้งทางตรงและทางอ้อมและไม่มีสาขาหรือ สถานประกอบการในประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ รวมทั้งให้คำแนะนำทาง ด้านธุรกิจการค้า เตรียมการศึกษาถึงความเป็นไปได้ด้านต่าง ๆ การเตรียมการและวางแผนใน การจัดการและเจรจาด้านการเงิน การแนะนำตลาดให้กับสินค้าของบริษัทฯ การเจรจากับภาครัฐ ตลอดจนมีหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ตามที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อให้การบริหารจัดการ การควบคุม การทำผลกำไรและการขยายธุรกิจของลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การควบคุม และกำกับดูแลของคณะกรรมการบริษัทฯ การให้คำแนะนำและคำปรึกษาดังกล่าว จะกระทำโดยผ่าน ทางโทรศัพท์ โทรสาร และ E-mail เท่านั้น โดยที่ MES มิได้ส่งพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามา ปฏิบัติงานในประเทศไทย ซึ่งนอกจาก MES จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการทั่วไปแล้วยังเป็น ผู้จัดการเทคโนโลยีด้านการผลิตหลังคาเหล็ก สังกะสี ท่อ และอื่นๆ แก่ทางบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ จ่าย ค่าตอบแทนการให้บริการดังกล่าวให้แก่ MES ในประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหัก ภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ 2. บริษัทฯ สั่งซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์จากต่างประเทศโดยมิได้มีการนำเข้า สินค้าที่สั่งซื้อ ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัทผู้ขายในต่างประเทศ บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ ซึ่งผู้ขายสินค้าดังกล่าวมีทั้งผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีและ ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย 3. บริษัทฯ ประกอบธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายหลังคา อุปกรณ์เกี่ยวกับหลังคาและผนัง ห้องเย็น เมื่อลูกค้าในต่างประเทศ อาทิเช่น ประเทศสิงคโปร์สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทฯ บริษัทฯ ก็จะส่ง สินค้าให้พร้อมกับบริการติดตั้ง ซึ่งในส่วนของงานการติดตั้ง (รวมถึงงานเขียนแบบและออกแบบ) ใน ต่างประเทศนี้ บริษัทฯ จะว่าจ้างทีมงานในต่างประเทศซึ่งมีทั้งผู้รับจ้างอิสระที่เป็นบุคคลธรรมดาและ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจทางด้านนี้โดยเฉพาะให้ทำการติดตั้ง กรณีดังกล่าว เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้กับ ทีมงานในต่างประเทศ บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ อนึ่ง ค่าจ้างที่บริษัทฯ จ่ายให้กับ ผู้รับจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดารวมถึงค่าอาหารและค่ารถที่ไม่มีใบเสร็จรับเงินด้วย |
แนววินิจฉัย | : 1. การให้บริการคำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านเทคนิค การผลิต หลังคาเหล็ก สังกะสี ท่อ ฯลฯ มีลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างทั่วไป และหากการให้คำ ปรึกษาดังกล่าวไม่มีการให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม การพาณิชย์ หรือทาง วิทยาศาสตร์ ที่ MES มีสิทธิหวงกันแล้ว ค่าตอบแทนการให้บริการดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิ หากแต่เป็นกำไรจากธุรกิจ ฉะนั้น เมื่อ MES ได้ให้บริการในต่างประเทศโดยมิได้ผ่าน สถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจาก เงินได้ค่าบริการนั้น ทั้งนี้ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่ เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าบริการให้แก่ MES บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด 2. กรณีตาม 2. การที่บริษัทฯ ชำระค่าสินค้าให้กับบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ ไม่ว่าผู้ขาย ดังกล่าวจะมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม ค่าสินค้าดังกล่าวถือเป็น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหัก ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร 3. ค่าตอบแทนสำหรับการรับทำงานติดตั้ง รวมทั้งการเขียนแบบ ออกแบบให้กับลูกค้า ต่างประเทศของบริษัทฯ ที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ผู้รับจ้างในต่างประเทศทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล พิจารณาได้ ดังนี้ 3.1 กรณีผู้รับจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ได้รับเงินค่าจ้าง ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบุคคลนั้นมีหน้าที่ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เนื่องจากการรับทำงานดังกล่าวถือเป็นงานบริการส่วนบุคคลซึ่งผู้มีเงินได้จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากงานบริการส่วนบุคคลนั้นให้แก่ประเทศไทยต่อเมื่อได้ให้บริการ ดังกล่าวในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อบุคคลดังกล่าวได้ให้บริการในต่างประเทศ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยจากค่าจ้างที่ได้รับ ทั้งนี้ ตามข้อ 14 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญา ดังกล่าว ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินที่จ่ายแต่อย่างใด 3.2 กรณีผู้รับจ้างที่เป็นนิติบุคคล เนื่องจากค่าตอบแทนสำหรับการให้บริการที่ผู้รับจ้าง ดังกล่าวได้รับเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ซึ่งหากนิติบุคคลผู้รับจ้างดังกล่าวมิได้เข้ามาให้บริการโดย ผ่านสถานประกอบการถาวรภายในประเทศไทยแล้ว ผู้รับจ้างนั้นก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่ประเทศไทย ทั้งนี้ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว และเมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าจ้างให้ แก่ผู้รับจ้างดังกล่าว บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่ง ประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 66/32313 |