เลขที่หนังสือ | : กค 0706/2404 |
วันที่ | : 12 มีนาคม 2546 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามสัญญาแลกเปลี่ยน (Swap) |
ข้อกฎหมาย | : คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.114/2545 ฯ |
ข้อหารือ | : สมาคมธนาคารต่างชาติได้ขอหารือเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามสัญญาแลกเปลี่ยน (Swap) ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.114/2545 เรื่อง การจ่ายเงินตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตรา ดอกเบี้ย (Interest rate swap) และสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Cross currency swap) ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2545 ในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. กรณีบริษัท ก. กู้ยืมเงินจากกิจการวิเทศธนกิจของธนาคาร ข. ในประเทศไทย และ บริษัท ก. ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยกับกิจการธนาคารพาณิชย์ของ ธนาคารเดียวกัน กรณีนี้จะถือว่าคู่สัญญาผู้รับทำสัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินด้วยหรือไม่ 2. เงินผลต่างที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเข้า ลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 4 ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.114/2545 ฯ ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2545 ครอบคลุมถึงเฉพาะกรณีที่ ธนาคารทำสัญญาให้กู้ยืมพร้อมกับทำสัญญาแลกเปลี่ยนกับผู้กู้ในวันเดียวกัน ทั้งนี้ โดยพิจารณาจาก เจตนารมณ์ของคู่สัญญาที่จะตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากเงินสกุลที่ให้กู้ยืมเป็นอัตราดอกเบี้ยของ เงินสกุลที่ทำสัญญาแลกเปลี่ยน และเป็นผลทำให้ผู้กู้ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่เจ้าหนี้เสมือนเป็นการกู้ยืม เงินสกุลที่ทำสัญญาแลกเปลี่ยน ดังนั้น หากเงื่อนเวลาของการทำสัญญาแลกเปลี่ยนไม่ตรงกับการทำสัญญา ให้กู้ยืม กรณีนี้ไม่ถือว่าคู่สัญญาผู้รับทำสัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ให้กู้ยืมตามข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.114/2545 ฯ ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2545 ถูกต้องหรือไม่ 3. ธนาคาร A สำนักงานสาขาในประเทศไทยของธนาคารต่างชาติจดทะเบียนในประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยกับธนาคาร A สาขาสิงคโปร์และธนาคาร B สาขาประเทศไทย ได้ร่วม ให้กู้ยืมเงิน (Syndicated loan) แก่บริษัท ก. ในประเทศไทยเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อธนาคาร (รวมจำนวนเงินให้กู้ยืมทั้งสิ้น 30 ล้านเหรียญสหรัฐ) บริษัท ก. ได้ทำสัญญา แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยกับธนาคาร A สาขาในประเทศไทยทั้งจำนวน กรณีนี้ จะถือว่าเงินผลต่างที่เกิดขึ้นจากสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยเฉพาะจำนวน Notional Amount เท่ากับเงินให้กู้ยืมที่ธนาคาร A สาขาในประเทศไทยให้กู้ยืม เป็น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร และถือว่าเงินผลต่างที่เกิดขึ้นจากสัญญา แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยจำนวน Notional Amount เท่ากับเงินให้กู้ยืมที่ ธนาคาร A สาขาสิงคโปร์ และธนาคาร B สาขาประเทศไทยให้กู้ยืมเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่ หากว่าสำนักงานใหญ่ของธนาคาร A มิได้จดทะเบียนใน ประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ผลทางภาษีข้างต้นจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัท ก. กู้ยืมเงินจากกิจการวิเทศธนกิจของธนาคาร ข. และบริษัท ก. ได้ทำ สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยกับกิจการธนาคารพาณิชย์ของธนาคารเดียวกัน เป็นกรณีคู่สัญญาผู้รับทำสัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินด้วย 2. การทำสัญญาแลกเปลี่ยนซึ่งคู่สัญญาผู้รับทำสัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินด้วยตามข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.114/2545 ฯ ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2545 หมายถึง คู่สัญญาซึ่ง เข้าทำสัญญาแลกเปลี่ยนจะต้องมีการทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างกันด้วย โดยคู่สัญญาผู้รับทำสัญญาแลกเปลี่ยน ต้องเป็นบุคคลเดียวกับผู้ให้กู้ยืมเงิน และเป็นการทำสัญญาแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความ ผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าคู่สัญญาจะทำ สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาแลกเปลี่ยนในวันเดียวกันหรือไม่ก็ตาม 3. กรณีธนาคาร A เป็นธนาคารต่างชาติจดทะเบียนในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้น การเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย โดยธนาคาร A สาขาประเทศไทย ธนาคาร A สาขาประเทศสิงคโปร์ และธนาคาร B สาขาประเทศไทย ได้ให้กู้ยืมเงินในลักษณะเงินให้กู้ร่วม (Syndicated Loan) แก่ บริษัท ก. ในประเทศไทยเป็นจำนวนเงินธนาคารละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมจำนวนเงินให้กู้ยืมทั้งสิ้น 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัท ก. ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยกับ ธนาคาร A สาขาประเทศไทยทั้งจำนวน เนื่องจากธนาคาร A สาขาประเทศไทยและธนาคาร A สาขา ประเทศสิงคโปร์เป็นนิติบุคคลเดียวกัน ดังนั้น เงินผลต่างที่เกิดจากสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเฉพาะส่วนจำนวนเงินต้นอ้างอิง (Notional Amount) ที่ให้กู้ยืม 20 ล้านเหรียญ สหรัฐของธนาคาร A สาขาประเทศไทยและธนาคาร A สาขาประเทศสิงคโปร์ เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 66/32302 |