เลขที่หนังสือ | : กค 0706/2984 |
วันที่ | : 26 มีนาคม 2546 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ่ายเงินได้ภายในประเทศและต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, มาตรา 47, มาตรา 50(1), มาตรา 63 |
ข้อหารือ | : กรณีบริษัท ท. ประกอบกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งออก โดยมีบริษัทในประเทศอังกฤษเป็น ผู้ถือหุ้นร้อยละ 49 และบริษัทในประเทศอังกฤษได้ส่งผู้แทนซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษมาทำหน้าที่ควบคุมดูแล กิจการในประเทศไทย มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทฯ ได้ โดยผู้แทนจะทำงานต่อเนื่องในประเทศไทย คราวละประมาณ 3 เดือน แล้วจึงกลับไปปฏิบัติงานที่ประเทศอังกฤษประมาณ 3 สัปดาห์ ผู้แทนจะกลับมา ประเทศไทยประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงไปปฏิบัติงานที่ประเทศจีนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากบริษัท อังกฤษมีสาขาอีกหนึ่งแห่ง ณ ประเทศจีนหลังจากนั้นผู้แทนจึงกลับมาปฏิบัติงานที่ประเทศไทยต่อ โดย การปฏิบัติงานจะเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีปฏิทิน รวมแล้วเกิน 183 วัน ผู้แทนจะได้รับเงินเดือนจากบริษัทฯ ในประเทศไทย และยังได้รับเงินเดือนจากบริษัทใน ประเทศอังกฤษอีกด้วย โดยเงินเดือนดังกล่าวจ่ายที่ประเทศอังกฤษ ไม่มีการโอนเข้ามายังประเทศไทย แต่อย่างใด บริษัทฯ หารือว่า 1. ผู้แทนต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากประเทศอังกฤษ มารวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีภาษีที่ผู้แทน อยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันใช่หรือไม่ และจะใช้หลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินได้อย่างไร ทั้งจำนวน หรือบางส่วน เพราะผู้แทนไม่ได้มีหน้าที่การงานเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีหน้าที่การงาน ใน ประเทศจีนด้วย 2. ถ้าผู้แทนถูกหักภาษีที่ประเทศอังกฤษแล้วในอัตราร้อยละ 40 ผู้แทนสามารถนำเงินภาษีที่ถูก หักไว้แล้วดังกล่าวมาเป็นเครดิตภาษีในประเทศไทยได้หรือไม่ และมีหลักเกณฑ์ในการนำเครดิตภาษีนี้มา ใช้อย่างไร และต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง 3. บริษัทฯ จะต้องคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือนอย่างไร การหักลดหย่อนของ ผู้แทน จะหักอะไรได้บ้าง เนื่องจากครอบครัวของผู้แทนอยู่ในประเทศอังกฤษ และต้องใช้หลักฐานอะไร บ้าง 4. การยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ถ้าผู้แทนต้องนำเงินได้จากบริษัทอังกฤษและบริษัทฯ มารวม คำนวณในแบบแสดงรายการ และใช้เครดิตภาษีของทั้ง 2 แหล่งเงินได้รวมกันแล้ว มีภาษีที่จะได้รับคืน ผู้แทนสามารถขอคืนภาษีในส่วนเกินทั้งจำนวนได้หรือไม่ หรือจะขอคืนได้เฉพาะในส่วนที่ถูกหักไว้ ณ แหล่งเงินได้ในประเทศไทยเท่านั้น |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีผู้แทนจากประเทศอังกฤษเข้ามาทำงานบริหารให้กับบริษัทฯ ในประเทศไทยจะต้องนำ เงินได้ดังกล่าวทั้งที่จ่ายจากบริษัทฯ และจากประเทศอังกฤษมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีในประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่ง ประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะได้นำเงินได้ในประเทศอังกฤษเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ และไม่ว่าผู้แทน ดังกล่าวอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลารวมกันเกิน 183 วันในปีปฏิทินที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เนื่องจาก เงินได้จ่ายโดยนายจ้างซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักร อังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนใน ส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ข้อ 16 บริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ ประเทศไทยจึงมีสิทธิเก็บภาษี จากเงินได้ดังกล่าวได้ 2. ผู้แทนดังกล่าวมีสิทธินำภาษีเงินได้ที่เสียจริงในประเทศอังกฤษมาเป็นเครดิตต่อภาษีใน ประเทศไทยได้ ตามข้อ 23 การขจัดการเก็บภาษีซ้อน แห่งอนุสัญญาฯ ดังกล่าว โดยต้องแนบหลักฐาน การเสียภาษีในประเทศอังกฤษด้วย 3. บริษัทฯ มีหน้าที่คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อจ่ายเงินเดือนให้ผู้แทนจากประเทศอังกฤษ โดยมีสิทธิหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47 แห่ง ประมวลรัษฎากร 4. หากผู้แทนจากประเทศอังกฤษชำระภาษีเงินได้ประจำปีภาษีแล้ว มีภาษีที่ชำระไว้เกินกว่า ภาษีที่จะต้องเสีย ย่อมมีสิทธิขอคืนได้ ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 66/32340 |