เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2168
วันที่: 4 มีนาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นสามัญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(9), มาตรา 50(2)
ข้อหารือ: ลูกค้าของบริษัท ก. มีความประสงค์จะซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นหุ้น
ของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้ามรดกระบุไว้ในพินัยกรรมให้
ผู้จัดการมรดกจัดตั้งบริษัท (ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์)โดยให้นำเอาที่ดินมรดกไปเป็นทุนของ
บริษัท ตีมูลค่าชำระเป็นทุนของบริษัทเท่ากับราคาตลาดของที่ดินในขณะนั้น แล้วมอบให้แก่บุตรทุกคนเข้าไป
เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว โดยในพินัยกรรมได้ระบุห้ามไม่ให้มีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวกับบุคคลภายนอกที่
ไม่ใช่บุตรของเจ้ามรดก หนึ่งในผู้ถือหุ้น (บุตรของเจ้ามรดก) ต้องการขายหุ้นที่ได้รับมาจากบริษัทซึ่ง
ก่อตั้งตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่น (บุตรของเจ้ามรดกเช่นเดียวกัน)
บริษัทฯ ขอหารือดังนี้
1. กรณีดังกล่าวถือเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร
ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ ทั้งนี้ หากกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวได้รับการ
ยกเว้นตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
(จากกำไรของการโอนหุ้น) ไว้ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากเงินได้ดังกล่าวผู้ขายหุ้น
ไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ซื้อหุ้น (บุคคลธรรมดา) ก็มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษี ณ ที่จ่ายจากส่วนของกำไรที่เกิดจากการโอนหุ้นดังกล่าว แล้วนำส่งกรมสรรพากร
2. จากข้อเท็จจริงตามข้อ 1. การคำนวณหากำไรจากการขายหุ้นดังกล่าว ผู้ขายจะนำเอา
ต้นทุนของหุ้นดังกล่าว คือ ราคาพาร์ ณ วันแรกที่ก่อตั้งบริษัทมาหักออกจากรายได้จากการขายหุ้นได้
ใช่หรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากเจ้ามรดกให้นำเอาที่ดินของเจ้ามรดก โอนเข้าเป็นหุ้นของบริษัทดังกล่าว และ
ให้ทายาทเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว โดยวิธีปฏิบัติในการลงทุนของผู้ถือหุ้นนั้น ในทางปฏิบัติได้ทำการ
โอนลัดขั้นตอนแทนที่จะโอนที่ดินมรดกจากเจ้ามรดกไปให้ทายาท แล้วทายาทโอนเข้าไปเป็นทุนของบริษัท
ตามส่วนของผู้ถือหุ้นแต่ละคน กรณีนี้ใช้วิธีโอนจากกองมรดกเข้าไปเป็นทุนของบริษัทและมีชื่อบริษัทเป็น
เจ้าของที่ดินเลย สำหรับการกำหนดทุนก่อตั้งของบริษัท ได้ใช้วิธีการตีราคาที่ดินตามราคาตลาด ณ วันที่
โอนเข้าบริษัทเพื่อเป็นทุนในการจัดตั้ง
กรณีดังกล่าวจะถือว่ามูลค่าของต้นทุนของหุ้นที่ขายเป็นราคาเท่ากับมูลค่าหุ้นราคาพาร์ ณ
วันก่อตั้งบริษัท ถูกต้องหรือไม่
3. ในการจ่ายชำระค่าหุ้นที่ซื้อตามข้อ 1. ผู้ซื้อกับผู้ขายได้ตกลงแบ่งจ่ายชำระค่าหุ้นออกเป็น
งวด ๆ เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 12 ปี 8 เดือน ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินจึงมีหน้าที่หักภาษี ณ
ที่จ่ายไว้ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน กรณีผู้ขายมีกำไรจากการขายหุ้น ผู้จ่ายเงินได้มีการแบ่งจ่ายเงินค่าหุ้น
ออกเป็นงวด ๆ ดังนั้น ทุกครั้งที่จ่ายเงิน ก็จะเฉลี่ยในส่วนของต้นทุนและรายได้จากการขายหุ้น เพื่อหา
กำไรที่เกิดจากการขายหุ้นในแต่ละครั้ง และนำกำไรที่ได้มาคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2)
แห่งประมวลรัษฎากร วิธีปฏิบัติดังกล่าวถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. เงินได้ที่เป็นผลประโยชน์จากการโอนหุ้น เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ซึ่ง
เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้มีเงินได้ได้รับจากการขายหุ้นที่
ได้ซื้อไว้ตามมาตรา 1106 และมาตรา 1107 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถึงแม้บริษัทดังกล่าว
จะได้ตั้งขึ้นตามเงื่อนไขของพินัยกรรม ผู้ขายมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48 แห่ง
ประมวลรัษฎากร กรณีไม่เข้าลักษณะที่จะได้รับยกเว้นตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
ในการคำนวณหาประโยชน์จากการโอนหุ้น เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
ตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนวณจากมูลค่าหุ้นที่ขาย หักด้วยมูลค่าหุ้นตามราคาที่
กำหนดต่อหุ้น (ราคาพาร์) ณ วันที่ซื้อหุ้น
2. การตกลงแบ่งจ่ายชำระค่าหุ้นเป็นงวด ๆ ให้คำนวณหาประโยชน์จากการโอนหุ้นเฉพาะซึ่ง
ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน โดยคำนวณตามสัดส่วนของการแบ่งจ่ายชำระค่าหุ้นเป็นงวด ๆ ตาม
สัญญา
เลขตู้: 66/32294

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020