เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.06)/พ./162
วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีชื่อของผู้ประกอบการในใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเลขที่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 และยื่นแบบ
ภ.พ.01 ขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 มี
สถานประกอบการตั้งอยู่ที่เขตดินแดง กรุงเทพฯ
2. บริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 มีนาคม 2545 ยื่นต่อกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 30 กันยายน
2545 แจ้งว่า บริษัทฯ ได้สั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี แต่เกิดความผิดพลาดในการจัดพิมพ์
โดยพิมพ์ชื่อบริษัทฯ เป็นบริษัท ท. และเอกสารที่พิมพ์มีเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ จึงขออนุโลมใช้
ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีที่พิมพ์ตัวสะกดชื่อบริษัทฯ ไม่ถูกต้องดังกล่าว และสำนักงานสรรพากรภาค
ได้แจ้งผลการพิจารณาให้บริษัทฯ ทราบว่า ชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียนถือเป็นรายการที่เป็น
สาระสำคัญตามมาตรา 86/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนต้อง
จัดทำใบกำกับภาษีที่มีชื่อ ผู้ประกอบการ หรือชื่อสถานประกอบการ หรือชื่อการค้าของสถานประกอบการ
ตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ดังนั้น จึงไม่อนุมัติให้บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อ
ผู้ประกอบการไม่ถูกต้อง ซึ่งจะมีผลให้ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีที่ได้รับจากบริษัทฯ
ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา
82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร
3. บริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 ตุลาคม 2545 ขออนุโลมให้การใช้ใบเสร็จรับเงินและ
ใบกำกับภาษีที่พิมพ์ตัวสะกดชื่อบริษัทฯ ไม่ถูกต้อง ในช่วงปี 2543 จนถึงปี 2545 ที่บริษัทฯ ได้ออกไปเป็น
จำนวนมาก ซึ่งบริษัทฯ ได้นำส่งภาษีขายและลูกค้าของบริษัทฯ ได้ใช้เป็นภาษีซื้อแล้วเช่นกันเป็น
ใบกำกับภาษีขายและใบกำกับภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: กรณีดังกล่าวใบกำกับภาษีขายของบริษัทฯ ที่ได้ออกในช่วงปี 2543 จนถึงปี 2545 ได้พิมพ์ชื่อ
บริษัทฯ ตัว "ซ" เป็นตัว "ส" แต่ที่อยู่ของบริษัทฯ ตรงกับที่ตั้งของบริษัทฯ ตามที่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ไว้ ข้อผิดพลาดดังกล่าวย่อมไม่ทำให้สำคัญผิดในตัวผู้ประกอบการว่าเป็น
ผู้ประกอบการอื่น จึงอนุโลมให้บริษัทฯ ใช้ใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีขาย และผู้ประกอบการ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าวใช้เป็นใบกำกับภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.86/2542 เรื่อง
หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มี
ลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 66/32250


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020