เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1187
วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการรับโอนลูกหนี้เงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 91/8
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้รับโอนลูกหนี้จากบริษัทที่ประมูลหนี้จาก ปรส. ด้วยราคาที่ต่ำกว่ามูลหนี้ต้นเงิน
เพื่อที่จะติดตามเรียกเก็บจากลูกหนี้ บริษัทฯ ได้รับทราบว่า กรมสรรพากรได้อนุมัติให้บริษัทที่รับโอนลูกหนี้
จากสถาบันการเงิน 56 แห่ง โดยการประมูลหนี้จาก ปรส. ใช้เกณฑ์เงินสด ในการคำนวณ
ภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามหนังสือที่ กค 0811/9072 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2541
จึงขออนุมัติและขอหารือวิธีปฏิบัติในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนี้
กรณีที่ 1 บริษัทฯ รับโอนลูกหนี้ 1 ราย บริษัทฯ บันทึกราคาทุนที่บริษัทฯ ได้จ่ายไป จำนวน
60 บาท (ไม่รวมค่าใช้จ่าย) เป็นมูลค่าของลูกหนี้ ต่อมาอีก 1 ปี บริษัทฯ สามารถเรียกเก็บหนี้จาก
ลูกหนี้ได้ในคราวเดียวโดยลูกหนี้ตกลงชำระหนี้ จำนวน 70 บาท จากราคาตามมูลหนี้ต้นเงินที่ลูกหนี้
ค้างชำระ 100 บาท ดอกเบี้ยคงค้าง ณ วันที่รับโอน จำนวน 50 บาท บริษัทฯ ใช้เกณฑ์เงินสดใน
การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะจากยอดเฉลี่ยเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นยอดดอกเบี้ยที่ต้องนำไปเสียธุรกิจ
เฉพาะ 20 บาท และเป็นการชำระเงินต้น 40 บาท ผลต่างระหว่างราคาที่ได้รับชำระหนี้กับราคาทุนที่
รับโอนลูกหนี้ จำนวน 10 บาท เป็นกำไรจากการรับโอนลูกหนี้ ซึ่งบริษัทนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
รวมกับดอกเบี้ยรับจำนวน 20 บาท โดยใช้เกณฑ์เงินสดในรอบปีบัญชีที่บริษัทได้รับชำระ ตามหนังสือที่ กค
0811/9072 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2541
กรณีที่ 2 บริษัทฯ รับโอนลูกหนี้ 5 รายรวมกัน จากต้นเงินรวม 200 บาท ดอกเบี้ยค้างชำระ
คำนวณสิ้นสุด ณ วันที่โอนเป็นจำนวน 150 บาท โดยที่บริษัทฯ ได้จ่ายเงินสำหรับการซื้อหนี้เป็นจำนวน
รวมกัน 130 บาท หกเดือนหลังจากที่รับโอนมาบริษัทฯ สามารถติดตามเรียกเก็บหนี้ได้ 1 ราย เป็นเงิน
50 บาท โดยลูกหนี้ตกลงชำระเงินในคราวเดียว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกหนี้รายนี้มีเงินต้นคงค้าง
จำนวน 80 บาท ดอกเบี้ยค้าง ณ วันที่รับโอนมาจำนวน 30 บาท บริษัทฯ บันทึกบัญชีลูกหนี้ที่รับโอน
มาด้วยราคาทุนตามสัดส่วนของมูลหนี้ (เงินต้นรวมดอกเบี้ย ณ วันโอน) เทียบกับจำนวนเงินที่จ่ายไปโดย
ไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของหลักประกัน บริษัทฯ คำนวณรายได้เฉพาะส่วนของลูกหนี้รายที่เรียกเก็บหนี้ได้ตาม
กรณีที่ 1
กรณีที่ 3 สืบเนื่องจากกรณีที่ 2 แทนที่บริษัทฯ จะได้รับชำระในคราวเดียว ปรากฏว่า ลูกหนี้
ตกลงที่จะผ่อนชำระโดยผ่อนชำระเป็นรายงวดจากต้นเงิน 50 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี จากต้น
เงิน 50 บาท โดยผ่อนชำระงวดละ 10 บาทพร้อมดอกเบี้ยต่างหาก โดยเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ตกลง
กัน บริษัทฯ ใช้เกณฑ์เงินสดในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากยอดดอกเบี้ยที่ได้รับร้อยละ 6 ต่อปีสำหรับ
ยอดต้นเงินที่ได้รับเป็นรายงวด งวดละ 10 บาท บริษัทฯ ได้แบ่งตามสัดส่วนเช่นเดียวกับกรณีที่ 1
คำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะจากส่วนที่เป็นสัดส่วนของดอกเบี้ย สำหรับผลต่างของเงินที่ได้รับชำระกับราคาที่
รับโอนมาเป็นกำไรจากการรับโอนหนี้ นำไปเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบปีบัญชีที่ได้
กำไรโดยถือเกณฑ์เงินสดเช่นเดียวกับกรณีที่ 1
กรณีที่ 4 สำหรับลูกหนี้ที่บริษัทฯ ได้รับโอนหนี้มาไม่ว่าจะรับโอนครั้งละรายหรือรับโอนครั้งละ
หลายราย หากบริษัทฯ ไม่สามารถที่จะติดตามหนี้ได้ และมีผู้ที่จะขอรับโอนหนี้ไปติดตามหนี้ต่อ กรณีเช่นนี้
ราคาที่บริษัทฯ จะได้รับย่อมต่ำกว่าราคาที่บริษัทฯ ได้จ่ายไป ถ้าราคาที่รับโอนมารวมลูกหนี้หลายรายแล้ว
รวมกันได้ 30 บาท ราคาที่รับโอน (เงินต้นรวมดอกเบี้ย) 50 บาท บริษัทฯ ต้องนำเงินจำนวน 30
บาท มาเฉลี่ยตามส่วนเงินต้นและดอกเบี้ยคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ณ วันที่บริษัทฯ
ได้รับชำระสำหรับผลต่างระหว่างจำนวนเงินที่ได้รับกับราคารับโอนเป็นผลขาดทุนจากการรับโอนลูกหนี้นำ
ไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบปีบัญชีที่ได้โอนขายลูกหนี้
ทั้ง 4 กรณีข้างต้น บริษัทฯ ใช้ปฏิบัติได้หรือไม่นั้น
แนววินิจฉัย: 1. กรณีที่บริษัทฯ เป็นผู้รับโอนลูกหนี้ตามสัญญาเงินกู้อีกทอดหนึ่งจากผู้ประมูลหนี้จาก ปรส.
บริษัทฯ จะต้องนำส่วนต่างระหว่างราคามูลหนี้ (ยอดลูกหนี้คงค้าง) กับราคาซื้อหนี้สุทธิมาเสียภาษี ดังนี้
(1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล
บริษัทฯ จะต้องนำส่วนต่างระหว่างราคามูลหนี้ (ยอดลูกหนี้คงค้าง) กับราคาซื้อหนี้
สุทธิมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้
ทยอยรับรู้เป็นรายได้ตามสัดส่วนของหนี้ที่ได้รับชำระในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
(2) ภาษีธุรกิจเฉพาะ
เนื่องจากส่วนต่างที่ได้รับส่วนหนึ่งเป็นดอกเบี้ยค้างชำระที่ยังมิได้มีการชำระ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ บริษัทฯ จะต้องนำดอกเบี้ยค้างชำระตามสัดส่วนที่ได้รับชำระจากลูกหนี้แต่ละรายถือเป็น
รายรับดอกเบี้ยที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร
2. ในการคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำนวณรายรับเพื่อเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตาม 1. กรมสรรพากรอนุมัติให้บริษัทฯ ผู้รับโอนใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณ
กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับส่วนต่างระหว่างราคามูลหนี้ (ยอดลูกหนี้คงค้าง) กับราคา
ซื้อหนี้สุทธิจากการรับโอนสิทธิตามสัญญาเงินกู้ได้ตามมาตรา 65 วรรคสามแห่งประมวลรัษฎากร และ
อนุมัติให้เปลี่ยนวิธีการบัญชีในการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากเกณฑ์สิทธิเป็นเกณฑ์เงินสด
ได้ ตามมาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32240


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020