เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./959
วันที่: 28 มกราคม 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 80, มาตรา 82/4, มาตา 86
ข้อหารือ: กรณีการออกใบกำกับภาษี ราย สมาคม ร. โดยมีข้อเท็จจริงว่า คณะบุคคล ช. จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2542 ต่อมาในเดือนตุลาคม 2543 คณะบุคคล ช. ได้เปลี่ยนชื่อเป็น
คณะบุคคล ก. และได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน
2543 และในระหว่างนั้นคณะบุคคล ก. ได้ส่งม้าเข้าแข่งกับสนามม้าแข่งสมาคม ร. มีรายได้ที่เกิดจาก
ส่งม้าเข้าแข่งเป็นเงิน 154,290 บาท แต่เนื่องจากคณะบุคคล ก. มิได้แจ้งการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวให้
สมาคมฯ ทราบว่าเป็นคอกม้าเดียวกับคณะบุคคล ช. ที่มีทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สมาคมฯ จึงไม่ได้คำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่คณะบุคคล ก. และคณะบุคคล ก. ก็ไม่ได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่สมาคมฯ รวมทั้ง
ไม่ได้ท้วงติงใด ๆ ในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มกับทางสมาคมฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545
คณะบุคคล ก. ได้แจ้งต่อสมาคมฯ เพื่อขอให้สมาคมฯ จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากรายได้ดังกล่าวให้แก่
คณะบุคคล ก. เป็นเงิน 10,800.30 บาท และคณะบุคคล ก.จะออกใบกำกับภาษีให้แก่สมาคมฯ สมาคมฯ
จึงหารือว่า
1. สมาคมฯ จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 10,800.30 บาท ให้แก่คณะบุคคลก. หรือไม่
เพราะเหตุใด
2. หากสมาคมฯ ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่คณะบุคคล ก. คณะบุคคล ก. จะต้อง
ออกใบกำกับภาษีลงวันที่ใดให้แก่สมาคมฯ
3. สมาคมฯ สามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาเครดิตเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีคณะบุคคล ก. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน มีรายได้จาก
การส่งม้าเข้าแข่งกับสมาคมฯ เป็นเงิน 154,290 บาท รายได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทน
จากการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระ
ค่าบริการ เว้นแต่ได้ออกใบกำกับภาษี หรือได้ใช้บริการไม่ว่าด้วยตนเองหรือบุคคลอื่น ก็ให้ความรับผิด
เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำนั้น ๆ ด้วย ตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
1. คณะบุคคล ก. มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 368) พ.ศ. 2543
2. คณะบุคคล ก. ต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากมีการออกใบกำกับภาษีในภายหลัง คณะบุคคล ก.
จะมีความผิดตามมาตรา 90/2(3) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(5)
แห่งประมวลรัษฎากร และสมาคมฯ สามารถนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หากไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32227

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020