เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/866
วันที่: 24 มกราคม 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์ กรณีการให้ใช้พื้นที่และให้บริการในศูนย์การค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2(1), มาตรา 78/1, มาตรา 82/3, มาตรา 82/10, มาตรา 86/10, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.90/2542 ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการศูนย์การค้า โดยบริษัทฯ ได้นำพื้นที่ในศูนย์การค้าออกให้เช่า ซึ่ง
บริษัทฯ จะจัดแบ่งพื้นที่ในชั้นหนึ่งของศูนย์การค้าออกเป็นส่วนๆ (Zone) ภายในบริเวณของแต่ละส่วน
(Zone) จะกั้นแบ่งเป็นล็อคๆ แต่ละล็อคไม่มีฝาห้องกั้นและประตูกั้น มีเพียงผนังกั้นห้องสำเร็จรูป
(Partition) ความสูงประมาณ 1.50 เมตร ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในแต่ละล็อคสามารถเดินเข้าออกทะลุ
ถึงกันได้ตลอด และเมื่อผู้เช่าตกลงเช่าพื้นที่ล็อคใดแล้ว ผู้ให้เช่า ไม่มีสิทธิโยกย้ายปรับเปลี่ยนตำแหน่ง
ของพื้นที่นั้นแต่อย่างใด เนื่องจากทำเลที่ตั้งของแต่ละล็อคเป็นสาระสำคัญในการตัดสินใจเช่าของผู้เช่า
โดยผู้เช่ามีสิทธิในการตกแต่งพื้นที่ในบริเวณล็อคของตนโดยอิสระ บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่เป็น
ร้อยละของยอดขายในแต่ละเดือน บริษัทฯ หารือว่า ในการเรียกเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่ บริษัทฯ จะต้อง
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เช่าหรือไม่ หรือรายรับค่าเช่าดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
2. บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าบริการจากผู้เช่าสำหรับการให้บริการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและ
สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้แก่ กระแสไฟฟ้า น้ำประปา ความเย็น (แอร์) การดูแลรักษา
ความสะอาด การรักษาความปลอดภัย การโฆษณา ถุงใส่สินค้า ตลอดจนการให้บริการเก็บเงินและ
เก็บรักษาเงินโดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์การค้า โดยผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าจะเป็น
ผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี และส่งมอบใบกำกับภาษีพร้อมทั้งสินค้าให้กับลูกค้าเอง โดยบริษัทฯ จะ
เรียกเก็บค่าบริการเป็นร้อยละของยอดขายในแต่ละเดือน บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการดังกล่าวจากผู้เช่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
3. บริษัทฯ จะเรียกเก็บเงินมัดจำการเช่าเป็นร้อยละของยอดขายขั้นต่ำ และจะคืนเงินมัดจำ
ให้แก่ผู้เช่าทันทีที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง โดยมีเงื่อนไขว่า หากเกิดความเสียหาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิหักกลบลบหนี้
ได้ สัญญาเช่ามีอายุสัญญาไม่เกิน 3 ปี บริษัทฯ หารือว่า ในการเรียกเก็บเงินมัดจำดังกล่าว บริษัทฯ จะ
ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เช่าหรือไม่ หรืออยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อ
3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2541
4. สัญญาให้เช่าพื้นที่และให้บริการตาม 1. และ 2. บริษัทฯ ต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่
หากต้องปิดอากรแสตมป์ บริษัทฯ จะคำนวณมูลค่าที่ต้องชำระอากรแสตมป์อย่างไรเนื่องจากบริษัทฯ ไม่
สามารถทราบมูลค่าของค่าตอบแทนที่จะได้รับจากผู้เช่าในวันลงนามในสัญญา ทั้งนี้ บริษัทฯ เข้าใจว่า
สัญญาตาม 2. เป็นสัญญาการให้บริการ ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม
บัญชีอัตราอากรแสตมป์แห่งประมวลรัษฎากร ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ นำพื้นที่ในชั้นหนึ่งของศูนย์การค้าออกให้เช่า โดยแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ (Zone)
แต่ละส่วน (Zone) ได้มีการจัดแบ่งพื้นที่ย่อยโดยมีผนังกั้นห้องสำเร็จรูป (Partition) กั้นเป็นสัดส่วน
ไม่มีประตูเปิด-ปิดและไม่มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่ให้แก่ผู้เช่าโดยเด็ดขาดผู้เช่าจะต้อง
ประกอบกิจการตามกำหนดวันและเวลาเปิด-ปิดทำการของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแล
อาคารตลอดจนอำนวยความสะดวกให้กับผู้เช่า กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บุคคลอื่นใช้พื้นที่
อสังหาริมทรัพย์ภายในห้างสรรพสินค้า ชั่วระยะเวลาอันจำกัด โดยบริษัทฯ ไม่ได้ส่งมอบการครอบครอง
พื้นที่อสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใช้พื้นที่ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำค่าบริการที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
77/2(1) และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตาม
มาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกเก็บค่าบริการโดยคิดเป็นอัตราร้อยละของ
รายได้ หรือ เรียกเก็บในลักษณะเป็นค่าเช่าพื้นที่ หรือในลักษณะอื่นทำนองเดียวกัน ตามข้อ 12
วรรคสอง ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.90/2542 เรื่อง การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และการหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 81(1)(ต) การโอนสิทธิ
การเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 77/1(8) และ (9) และการให้บริการตามมาตรา 77/1(10)
แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2542
2. กรณีบริษัทฯ จัดให้มีบริการสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆได้แก่ ระบบ
ความเย็น ระบบไฟฟ้า ประปา การดูแลรักษาความสะอาด การรักษาความปลอดภัย การโฆษณา ถุงใส่
สินค้า การเก็บและรักษาเงินโดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์การค้า โดยจะเรียกเก็บค่าบริการเป็นร้อยละของ
ยอดขายในแต่ละเดือน กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำค่าบริการที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
77/2(1) และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตาม
มาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ เรียกเก็บเงินมัดจำการเช่า โดยบริษัทฯ จะคืนเงินมัดจำในทันทีที่สัญญาสิ้นสุด
ลง กรณีเกิดความเสียหาย บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าเสียหายจากเงินมัดจำและคืนเงินส่วนที่เหลือให้แก่
ผู้ใช้บริการ เนื่องจากเงินมัดจำดังกล่าวเป็นเงินมัดจำจากการให้ใช้พื้นที่ตาม 1. จึงเข้าลักษณะเป็น
รายรับจากการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำเงินมัดจำ
ค่าบริการทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในขณะได้รับชำระเงินมัดจำ
ดังกล่าว ตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อบริษัทฯ ได้คืนเงินมัดจำดังกล่าวให้แก่
ผู้รับบริการตามข้อตกลงหรือสัญญา บริษัทฯ มีหน้าที่ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
ให้แก่ผู้รับบริการ ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 2(3)(ข) และ (ค) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษี มูลค่าเพิ่ม สำหรับ
การเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ หรือเงินจอง ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2541
4. กรณีสัญญาการให้บริการใช้พื้นที่ในศูนย์การค้า และสัญญาการให้บริการสาธารณูปโภคและ
สิ่งอำนวยความสะดวกตาม 1. และ 2. สัญญาดังกล่าวไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารตามที่ระบุไว้ใน
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับต้อง
ปิดอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้: 66/32222


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020