เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./862 |
วันที่ | : 24 มกราคม 2546 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกิจการโรงพักสินค้าเพื่อตรวจปล่อยของขาเข้าและบรรจุของขาออก ที่ขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตทำเนียบท่าเรือ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82, มาตรา 82/3, มาตรา 82/6, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้จัดตั้งโรงพักสินค้าเพื่อตรวจปล่อยของขาเข้าและบรรจุ ของขาออกที่ขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตทำเนียบท่าเรือ (ร.พ.ท./ICD :Inland Container Depot) ประกอบกิจการภายใต้กฎหมายศุลกากร และบริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการประกอบกิจการส่วนใหญ่ ได้แก่ การรับขนถ่ายสินค้าทางน้ำระหว่างประเทศ การจัดระวาง การขนส่งบรรทุกสินค้า การรับฝากสินค้า และการให้บริการตัวแทนออกสินค้า บริษัทฯ ประกอบกิจการทั้ง ประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าภาระและค่าบริการต่าง ๆ จากลูกค้าในลักษณะเดียวกับการท่าเรือ แห่งประเทศไทย โดยแยกเก็บตามโครงสร้างของอัตราค่าภาระ (Tariff) ตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริง และออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี โดยระบุรายการแบ่งแยกค่าภาระและค่าบริการดังนี้ 1. ค่าลากตู้สินค้า/ค่าขนส่ง (Haulage Charge/Transportation Charge) ซึ่งจำแนก เป็น 1.1 กรณีขาเข้าบริษัทฯ จะใช้รถเทรลเลอร์ ลากตู้สินค้าจากท่าเรือ มายัง ร.พ.ท. หรือ ลากตู้สินค้าจาก ร.พ.ท. ไปยัง ผู้นำเข้า หรือลากตู้เปล่าจาก ร.พ.ท. หรือ ผู้นำเข้า ไปยังลาน กอง เก็บตู้คอนเทนเนอร์ หรือใช้รถบรรทุก บรรทุกสินค้าจาก ร.พ.ท. ไปยัง ผู้นำเข้า 1.2 กรณีขาออก บริษัทฯ จะใช้รถเทรลเลอร์ ลากตู้สินค้าจากผู้ส่งออก ไปยังท่าเรือ หรือลากตู้สินค้าจาก ร.พ.ท. ไปยัง ท่าเรือ หรือลากตู้เปล่าจาก ลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์มา ร.พ.ท. หรือไป ผู้ส่งออก หรือใช้รถบรรทุก บรรทุกสินค้าจาก ผู้ส่งออก มายัง ร.พ.ท. 2. ค่าภาระยกขนตู้สินค้า/สินค้า (Container Handling Charge/Cargo Handling Charge) 3. ค่าภาระยกขนตู้สินค้า (Lift On/Lift Off Charge) 4. ค่าภาระการจัดเรียงตู้สินค้าใหม่ (Re-Location Charge) 5. ค่าภาระฝากเก็บตู้สินค้า/สินค้า (Container Storage Charge/Cargo Sto rage Charge) 6. ค่าภาระตู้สินค้าเปลี่ยนสถานภาพ (Change of Container Status Ch arge) 7.ค่าล่วงเวลาศุลกากร (Customs Overtime Charge) 8. ค่าผ่านท่า (Gate Ch arge) 9. ค่าเดินพิธีการ ก.ศ.ก. (Customs Clearance Charge) 10. ค่าบริการเปิดตู้สินค้า/บรรจุตู้สินค้า (Container Un-Stuffing Charge/Container Stuffing Charge) 11. ค่าบริการตู้สินค้าห้องเย็น (Reefer Container Charge) 12. ค่าบริการชั่งตู้สินค้า (Container Weighing Charge) บริษัทฯ หารือว่า 1. กรณีบริษัทฯ เรียกเก็บค่าภาระและค่าบริการต่าง ๆ จากลูกค้ารายเดียว ตามรายการที่ 1-12 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.106/2544 ฯ ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ใช่หรือไม่ 2. กรณีบริษัทฯ ให้บริการขนส่งโดยรถเทรลเลอร์จากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง โดยไม่ได้ ให้บริการอื่นใดอีก (ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ ร.พ.ท.) บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ 3. กรณีบริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกิจการหลักบางประเภทไว้แล้ว หากกรณีตาม 1. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก ลูกค้าได้ใช่หรือไม่ 4. เดิมบริษัทฯ ประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 1. ทำให้กิจการของบริษัทฯ อยู่ใน บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด บริษัทฯ ไม่ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไปใช่หรือไม่ 5. หากบริษัทฯ ยังคงประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้อง เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าหากคำนวณอัตราส่วนของรายได้ในปีที่ผ่านมาหรือปีปัจจุบันพบว่า รายได้ประเภทที่ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งหมดของกิจการ บริษัทฯ มีสิทธิเลือก วิธีนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายได้ใช่หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้จัดตั้งโรงพักสินค้าเพื่อตรวจปล่อยของขาเข้า และบรรจุของขาออกที่ขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตทำเนียบท่าเรือ (ร.พ.ท./ICD) บริษัทฯ จึงมีฐานะเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันกับกิจการท่าเรือ เข้า ลักษณะเป็นผู้ประกอบการและอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 และมาตรา 82/3 แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. กรณีบริษัทฯ ให้บริการขนส่งนอกบริเวณ ร.พ.ท. (I.C.D.) โดยให้บริการรถบรรทุก สินค้าจากโรงงานไปยัง ร.พ.ท. (I.C.D.) หรือจาก ร.พ.ท. (I.C.D.) ไปยังโรงงาน และกรณี บริษัทฯ ให้บริการขนส่ง (ลากตู้สินค้า) โดยรถเทรลเลอร์จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง (ไม่เกี่ยว ข้องกับ ร.พ.ท.) โดยมิได้ให้บริการอื่นใดอีก เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้บริการขนส่งใน ราชอาณาจักร เฉพาะรายได้ส่วนนี้ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่ง ประมวลรัษฎากร 3. กรณีบริษัทฯ ให้บริการในบริเวณ ร.พ.ท. (I.C.D) เช่น ให้บริการรถเครนแรงงานคน ฯลฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้อง เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อบริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไว้แล้ว บริษัทฯ จึงมีสิทธิออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ใช้บริการได้ 4. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด บริษัทฯ ไม่ต้องเฉลี่ย ภาษีซื้อสำหรับใบกำกับภาษีที่ระบุวันที่ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป 5. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทฯ ได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้ หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ถ้าไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือ บริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ให้เฉลี่ยภาษีซื้อดังกล่าวตามส่วนของรายได้ของแต่ละ กิจการตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 และหากรายได้ของปีที่ผ่านมาของบริษัทฯ เป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของ กิจการทั้งหมด บริษัทฯ มีสิทธิเลือกนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย โดยบริษัทฯ มีสิทธิเลือก ปฏิบัติได้โดยไม่ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 3(1) ของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว |
เลขตู้ | : 66/32218 |