เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./523
วันที่: 17 มกราคม 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77(4), มาตรา 82/5(5), มาตรา 89(6), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ช. ได้นำเข้าสินค้า (Rubber Compound SZT 5001F) และได้โอนสินค้านี้ให้กับ
บริษัท ต. เป็นผู้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อกรมศุลกากรเพื่อกระทำพิธีการนำเข้าสินค้าและ
ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ซึ่งบริษัทฯ ไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่โอนมารวมคำนวณเป็น
มูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.101/2543 ฯ
ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 แต่เนื่องจากการนำเข้าครั้งนี้ บริษัทฯ ได้สำรองจ่ายค่าอากร
ขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมศุลกากรแทนบริษัท ต. โดยบริษัทฯ จะนำใบเสร็จรับเงินที่ออกเป็นชื่อ
บริษัท ต. ไปเรียกเก็บเงินจากบริษัท ต. ในภายหลัง ซึ่งตามปกติบริษัทฯ จะต้องออกใบรับตามมาตรา
105 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ในครั้งนี้บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท
ต. และบริษัท ต. ได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยมิได้นำภาษีซื้อตามใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรไปหักในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ หารือว่า ถ้าบริษัท ต. ต้องการนำใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรไปหักใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมสำหรับยอดขายที่แจ้งไว้เกิน และ
บริษัท ต. จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมสำหรับยอดซื้อที่แจ้งไว้เกินหลังจากที่ยื่นเพิ่มเติมแล้ว บริษัท
ต. สามารถนำใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรไปหักในการคำนวณภาษีได้ตามปกติได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่ขายมารวมคำนวณเป็นมูลค่า
ของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(9) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 80)ฯ ลงวันที่ 1
ตุลาคม พ.ศ. 2541 บริษัทฯ จึงไม่ต้องออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท ต. เมื่อ
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ มีหน้าที่
ต้องออกใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบส่งของตามมาตรา 105 จัตวา แห่ง
ประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี
กรณีบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท ต. จึงเป็นการ
ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องรับผิดเสีย
เบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัท
ต. ไม่มีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อ ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัท ต.
จึงต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมปรับปรุงยอดซื้อที่แจ้งไว้เกินพร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับตาม
มาตรา 89(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
และบริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมปรับปรุงยอดขายที่แจ้งไว้เกิน และเนื่องจาก
บริษัทฯ และบริษัท ต. ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงให้งดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3) (4) และ (6)
แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทฯ และบริษัท ต. ตามข้อ 2 และข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.81/2542 ฯ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
สำหรับกรณีภาษีซื้อตามใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรนั้น บริษัท ต. มีสิทธินำไปถือเป็น
ภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32199


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020