เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/957
วันที่: 28 มกราคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทต่างประเทศขายสินค้าเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 76 ทวิ, มาตรา 77/2, มาตรา 80, มาตรา 85/3
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ มีลูกค้าคือ บริษัท V ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเยอรมัน และได้
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 43 โดย
มิได้มีสำนักงานหรือสถานประกอบการถาวรใด ๆ ในประเทศไทย และไม่มีตัวแทน หรือผู้กระทำการแทน
บริษัท V ในประเทศไทย แต่บริษัท V ได้ให้บริษัทฯ เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มแทน
2. เมื่อบริษัท V ได้ขายสินค้าให้แก่บริษัท J ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย บริษัท V จะ
ออกใบกำกับภาษีขายจากประเทศเยอรมันส่งมาให้แก่บริษัท J บริษัท J จะชำระราคาสินค้าไปให้บริษัท
V ในประเทศเยอรมันโดยตรง
3. บริษัท V ได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท S ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยให้บริษัท S ส่งสินค้า
ดังกล่าว ณ สถานประกอบการของบริษัท J และบริษัท S จะออกใบกำกับภาษีให้บริษัท V ตามที่อยู่ซึ่งได้
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว
บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. บริษัท V มีภาระภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยอย่างไร
2. เงินได้ของบริษัท V ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีในประเทศไทยตาม
ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่
เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อบริษัท V ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเยอรมัน และได้จดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม
เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท S ซึ่งตั้ง
ขึ้นตามกฎหมายไทย โดยให้ส่งสินค้าไปยังบริษัท J ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยโดยตรง และบริษัท S
ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท V ตามที่อยู่ซึ่งได้แจ้งไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ชั่วคราว ถือว่าบริษัท V ขายสินค้าในราชอาณาจักรให้แก่บริษัท J ตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัท V มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีตามมาตรา 80 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และต้องจัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท J
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณีบริษัท V จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และได้ขายสินค้าให้แก่บริษัท J ใน
ประเทศไทย ถือว่าบริษัท V มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท V มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้
ในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือ
ผู้ทำการติดต่อมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นแบบและเสียภาษี ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของความตกลง
ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับ
ภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505
เลขตู้: 66/32225


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020