เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/864
วันที่: 24 มกราคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ตามข้อตกลงประนอมหนี้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการด้านการลงทุนโดยการถือหุ้นใน
บริษัทอื่น ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทฯ ได้จัดหาแหล่งเงินทุนโดย
บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 2 แห่ง โดยได้จดจำนำหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง
และจัดให้นิติบุคคลจำนวนสองรายเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน และบริษัทฯ ได้ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งดังกล่าวตามปกติ จนกระทั่งเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้
บริษัทฯ ไม่สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย จึงหยุดการชำระหนี้ ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 2
แห่งดังกล่าวถูกปิดกิจการ และองค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้เข้าควบคุมดูแล
ในปี 2542 ปรส. ได้นำสินเชื่อทางธุรกิจ สัญญากู้และสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ของบริษัทเงินทุน
และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ออกประมูลขายสำหรับภาระหนี้ของบริษัทฯ
ที่มีอยู่ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 2 แห่งได้มีกองทุนรวมประมูลซื้อ ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
ประเภทกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นเพื่อซื้อและรับโอนสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุน
และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ
ในกลางปี 2543 กองทุนรวมดังกล่าว ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ชำระหนี้ และบอกกล่าว
บังคับจำนำหุ้นที่วางเป็นประกันไว้ ได้มีการเจรจาประนอมหนี้ แต่ตกลงกันไม่ได้ กองทุนรวมดังกล่าวได้
ยื่นฟ้องบริษัทฯ เป็นคดีล้มละลาย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 โดยยื่นฟ้องบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 2
ร่วมกับนิติบุคคลอื่นอีกสองรายซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากนั้นบริษัทฯ ก็ยังเจรจาประนอมหนี้กับกองทุนรวม
ตลอดมา และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2544 กองทุนรวมได้ตกลงประนอมหนี้กับบริษัทฯ สำเร็จ มี
สาระสำคัญว่า บริษัทฯ จะชำระหนี้ให้แก่กองทุนรวมโดยการตีโอนหุ้นหลักประกันซึ่งเป็นหุ้นของ
บริษัทจดทะเบียนที่บริษัทฯ ได้จดจำนำไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งที่ในปัจจุบันกองทุนรวมเป็น
ผู้รับโอนสิทธิในหลักประกันดังกล่าวให้แก่กองทุนรวมทั้งหมดภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2544 ซึ่งหากบริษัทฯ
ปฏิบัติได้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวภายในกำหนดเวลากองทุนรวมตกลงปลดภาระหนี้ที่เหลืออยู่ให้แก่
บริษัทฯ ทั้งหมด (บริษัทฯ จะได้รับการปลดหนี้จากกองทุนรวมคิดเป็นร้อยละ 83.18 ของยอดเงินต้น
ค้างชำระ อีกทั้งยังได้รับการปลดยอดดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดอีกด้วย) ซึ่งบริษัทฯ ต้องบันทึก
จำนวนเงินที่ได้รับการปลดหนี้ดังกล่าวเป็นรายรับในทางบัญชีทั้งจำนวน
หลังจากได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กองทุนรวมในฐานะโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอ
ถอนฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2544 และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง
บริษัทฯ จึงขอหารือว่า รายรับที่ได้จากการปลดหนี้ตามข้อตกลงการประนอมหนี้กับกองทุนรวม
ดังกล่าวข้างต้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 หรือ
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ต้องนำจำนวนเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้จากกองทุนรวมมารวมคำนวณ
เป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
และเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ดังกล่าวไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายแต่อย่างใด
เลขตู้: 66/32220


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020