เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/594
วันที่: 20 มกราคม 2546
เรื่อง: การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการโอนกิจการระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (มหาชน)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 74, มาตรา 77/1(8), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500,กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ
ข้อหารือ: ทอท. แจ้งว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545 ให้แปลงสภาพ
การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และเมื่อ
การก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วเสร็จให้มีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน
ระหว่าง ทอท. และ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (มหาชน) (บทม.) ในการนี้
ทอท. จึงขอความร่วมมือจากกระทรวงการคลังเพื่อขอยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ บทม. และ ทอท. ตลอดจนผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองสำหรับ
เงินได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับที่ได้จากหรือเกี่ยวเนื่องกับการโอนกิจการทั้งหมดของ บทม. มายัง
ทอท.
แนววินิจฉัย: 1. ตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 10 กันยายน 2545 ได้กำหนดให้ เมื่อการก่อสร้าง
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วเสร็จ ให้โอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด ทรัพย์สิน รวมทั้งพนักงานทั้งหมด
ของ บทม. ไปเป็นของ ทอท. และให้ดำเนินการยุบเลิก บทม. ดังนั้น การโอนกิจการทั้งหมดระหว่าง
บทม. (ผู้โอน) กับ ทอท. (ผู้รับโอน) ตามมติคณะรัฐมนตรี นั้น จะมีภาระภาษีอากรตาม
ประมวลรัษฎากร ดังนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณี บทม. (ผู้โอน) ได้จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่
โอนกิจการนั้น ทรัพย์สินที่ บทม. ได้โอนให้กับ ทอท. จะต้องตีราคาตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียน
เลิก หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาทุน ผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น บทม. (ผู้โอน)
ไม่ต้องนำมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามมาตรา 74(1)(ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณี ทอท. (ผู้รับโอน) จะต้องตีราคาทรัพย์สินที่รับโอนมาตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของ
บทม. (ราคาทุน) ในวันที่รับโอนกิจการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ จนกว่า
ทอท. จะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 74(1)(ข) และ (ค)แห่งประมวลรัษฎากร
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณี บทม. (ผู้โอน) ได้โอนกิจการทั้งหมดให้กับ ทอท. (ผู้รับโอน) ซึ่ง ทอท.
(ผู้รับโอน) เป็นบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเมื่อโอนกิจการไปแล้ว บทม. (ผู้โอน) จะยุบเลิกไป การโอนกิจการ
ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการทั้งหมดให้กับ ทอท. ซึ่งไม่ถือเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา
77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร การโอนกิจการของ บทม. ดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
ภาษีธุรกิจเฉพาะ
การโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจาก บทม. (ผู้โอน) ได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่
ทอท. (ผู้รับโอน) หากการโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตาม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือ
โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27
กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว การโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา
5 โสฬส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่
10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 330) พ.ศ. 2541
อากรแสตมป์
กรณีการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันระหว่าง บทม.
(ผู้โอน) กับ ทอท. (ผู้รับโอน) หากการโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ
และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการควบเข้า
กันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่
27 กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว ผู้ที่ต้องเสียอากรจากการกระทำตราสารดังกล่าวได้รับยกเว้น
อากรแสตมป์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วย
การยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 357)
พ.ศ. 2542
2. กรณีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนกิจการ
ทั้งหมดให้แก่กันระหว่าง บทม. (ผู้โอน) กับ ทอท. (ผู้รับโอน) หากการโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าวเป็น
ไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือ
บริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว ผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็น
เงินได้เกินกว่าเงินทุน ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมได้
รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
341) พ.ศ. 2541
สำหรับผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้รับผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน
ระหว่าง บทม. (ผู้โอน) กับ ทอท. (ผู้รับโอน) หากการโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าวเป็นไปตาม
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อ
ยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว ผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่า
เงินทุน ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมได้รับยกเว้น
ภาษีเงินได้ ตามข้อ 2(50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 215 (พ.ศ.
2541)ฯ
3. กรณี ทอท. จะขอให้กระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับการโอนกิจการทั้งหมด ให้แก่ บทม. ทอท. และ
ผู้ถือหุ้น เป็นการเฉพาะ นั้น เนื่องจากเมื่อมีกฎหมายเกี่ยวกับการยกเว้นในเรื่องดังกล่าวที่ใช้บังคับเป็น
การทั่วไปแล้ว กรณีจึงไม่มีความจำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นเป็นการเฉพาะอีก แต่ประการใด
เลขตู้: 66/32209

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020