เลขที่หนังสือ | : กค 0706/521 |
วันที่ | : 17 มกราคม 2546 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการให้บริการเพิ่มเติมของธุรกิจ Freight Forwarding |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(8), มาตรา 70, มาตรา 76 ทวิ, คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 2/2526 ฯ |
ข้อหารือ | : กรณีการให้บริการเพิ่มเติมของธุรกิจ Freight Forwarding 1. บริษัท สำนักกฎหมายและภาษี อ. ประกอบกิจการเป็นสำนักงานที่ปรึกษาลูกค้าของ สำนักงานฯ รายหนึ่ง เป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทยประกอบธุรกิจ ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และมีนโยบายที่จะขยายธุรกิจเพื่อให้บริการเพิ่มเติมจาก ธุรกิจ Freight Forwarding ซึ่งความเข้าใจโดยทั่วไปสำหรับธุรกิจ Freight Forwarding เป็น ธุรกิจประเภทบริการรับเป็นคนกลาง ทำการแทนผู้ส่งออก ในการนำสินค้าบรรจุในเรือ หรืออากาศยาน หรือทำการแทนผู้นำเข้า ในการขนถ่ายสินค้าออกจากเรือ หรืออากาศยาน นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่จองพื้นที่ ในเรือ หรืออากาศยานเพื่อขนส่งสินค้า การจัดหาและขนส่งสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ รวมทั้งดำเนิน พิธีการทางศุลกากร 2. ในการให้บริการ Freight Forwarding นี้ บริษัทจะให้บริการแก่นิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทยและต่างประเทศ ดังนี้ 2.1 บริษัทจะให้บริการ Freight Forwarding แก่ลูกค้าของบริษัทหลายรายซึ่งเป็น นิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ("บริษัทผู้ขาย") เป็นการทั่วไปมิได้ให้บริการแก่บริษัทผู้ขาย รายหนึ่งรายใดโดยเฉพาะเจาะจง บริษัทผู้ขายไม่มีสำนักงาน สถานจัดการ สาขาตัวแทน พนักงานหรือ ลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทยแต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทผู้ขายแต่ละรายในต่างประเทศนั้น มิได้เป็นกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกัน และไม่มี ความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องในการถือหุ้นซึ่งกันและกันแต่อย่างใด 2.2 บริษัทผู้ขายจะว่าจ้างให้บริษัทดำเนินการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศตามคำสั่งของ บริษัทผู้ขายเพื่อส่งให้แก่ลูกค้าของบริษัทผู้ขายในประเทศไทย ซึ่งในขั้นแรกจะขนส่งสินค้าของบริษัทผู้ขาย ในต่างประเทศไปเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนก่อน โดยบริษัทผู้ขายยังมิได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้า ของตนในประเทศไทยแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อลูกค้าได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ขายแน่นอนแล้ว บริษัทผู้ขาย จึงจะแจ้งให้บริษัททราบเพื่อดำเนินการนำสินค้า ซึ่งเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนส่งมอบให้แก่ลูกค้า ของบริษัทผู้ขายต่อไป ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วและทัน การณ์ โดยไม่ต้องรอส่งมาจากต่างประเทศ เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าก็จะได้รับในเวลาอันรวดเร็ว 2.3 บริษัทผู้ขายไม่สามารถกระทำการเป็นผู้นำเข้าสินค้าในประเทศไทยได้ จึงมอบหมาย ให้บริษัทในฐานะ Freight Forwarder ดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้าสินค้าแทนบริษัทผู้ขายเพื่อ เก็บรักษาสินค้าไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่นำเข้ายังเป็นของบริษัท ผู้ขาย 2.4 ในการขายสินค้าระหว่างบริษัทผู้ขายกับลูกค้าของตนในประเทศไทยนั้น บริษัทผู้ขาย ต่างประเทศจะติดต่อขายสินค้ากับลูกค้าในประเทศไทยโดยตรง และเป็นผู้ออกใบกำกับสินค้าและ ใบเสร็จรับเงินให้กับลูกค้าของตนในประเทศไทยโดยตรง โดยลูกค้าจะชำระค่าสินค้าให้กับบริษัทผู้ขาย โดยตรง บริษัทมิได้เป็นตัวแทนติดต่อหรือเป็นตัวเชื่อมหรือชี้ช่องให้บริษัทผู้ขายแต่อย่างใด หากลูกค้า ต้องการจะซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ขาย บริษัทผู้ขายจะแจ้งให้บริษัททราบเพื่อให้จัดส่งสินค้าซึ่งได้เก็บรักษาไว้ ในคลังสินค้าทัณฑ์บนให้แก่ลูกค้าตามลักษณะธุรกิจทั่วไปอย่างที่บริษัทประกอบกิจการ 2.5 ในส่วนที่เกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น บริษัทผู้ขายจะเช่าคลังสินค้าทัณฑ์บนกับนิติบุคคล ในประเทศไทย โดยบริษัทจะเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทผู้ขายกับเจ้าของคลังสินค้าทัณฑ์บน ในการนำ สินค้าเข้าเก็บและการเก็บรักษาสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บน รวมทั้งการนำออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน แต่ บริษัทไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีควบคุมสินค้าที่เก็บรักษาในคลังสินค้าทัณฑ์บนแต่อย่างใด ในการ นำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น ลูกค้าในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าจะเป็นผู้ดำเนินพิธีการ ศุลกากร และชำระภาษีอากรขาเข้าขณะที่นำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนด้วยตนเอง 2.6 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการ Freight Forwarding เท่านั้น โดยเรียกเก็บ เป็นค่าบริการจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ เช่น ค่า Freight Forwarding ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ค่าบริการอื่น ๆ ทั้งนี้ บริษัทมิได้รับค่าตอบแทน ค่านายหน้า หรือรายได้อื่นใดอีก 2.7 หากสินค้าของบริษัทผู้ขายซึ่งเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนไม่สามารถจำหน่ายให้ กับลูกค้าในประเทศไทยได้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่นำเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน บริษัทจะ ดำเนินการส่งสินค้าดังกล่าวกลับไปยังบริษัทผู้ขาย โดยบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรในการส่งกลับ สินค้าดังกล่าว 3. สำนักงานฯ หารือดังนี้ (1) เนื่องจากบริษัทมิได้เป็นตัวแทน ลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ ให้บริษัท ผู้ขาย และไม่ถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัทผู้ขายแต่อย่างใด บริษัทจึงไม่ต้องรับผิดตาม มาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทเข้าใจว่า บริษัทผู้ขายมิได้ประกอบกิจการใน ประเทศไทยโดยผ่านสถานประกอบการถาวร ไม่มีสำนักงาน สถานจัดการ สาขา ตัวแทน พนักงาน หรือ ลูกจ้างในประเทศไทยภายใต้มาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เงินได้หรือกำไรของบริษัท ผู้ขาย จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร (2) กรณีตามข้อเท็จจริง หากบริษัทได้มีการให้บริการเพิ่มแก่บริษัทผู้ขายในการจัดทำ บัญชีคุมสินค้าที่เก็บรักษาในคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยมีการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวเพิ่มขึ้น บริษัทจะถูก พิจารณาว่าเป็นตัวแทนของบริษัทผู้ขายต่างประเทศ ตามมาตรา 76 ทวิ หรือไม่ (3) เงินได้จากการประกอบธุรกิจการพาณิชย์ที่เกิดขึ้นในประเทศของบริษัท ผู้ขายที่อยู่ ต่างประเทศ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทผู้ขายเป็นนิติบุคคลใน ประเทศที่มีความตกลงแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย เงินได้ดังกล่าวย่อม ถือเป็นกำไรธุรกิจ ตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาภาษีซ้อน ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีและไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย หรือถูกหักภาษีเงินได้ในประเทศไทยแต่อย่างใด |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarding) และจะให้บริการเพิ่มเติมโดยการนำสินค้าซึ่งส่งมาจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศเข้า เก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยตามคำสั่งของบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ นั้น จะถือว่าบริษัทอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เป็นไปตาม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 2/2526 เรื่อง ภาษีเงินได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2526 และกรณีจะถือว่าบริษัทผู้ขายในต่างประเทศมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุ ให้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยย่อมเป็นไปตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยทำไว้ กับประเทศต่าง ๆ 2. กรณีลูกค้าในประเทศไทยได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัทผู้ขายในต่างประเทศ เข้าลักษณะ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจาก เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้กับบริษัทในต่างประเทศ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 66/32197 |