เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1040
วันที่: 24 ธันวาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545, กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ
ข้อหารือ: กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545 ข้อเท็จจริงสรุปได้
ดังนี้
1. บริษัทฯ จะทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ 2 ราย ได้แก่
1.1 บรรษัท เงินทุนฯ จำนวนมูลหนี้ 10 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้นำหลักทรัพย์ของบริษัทฯ
ซึ่งเป็นที่ดิน อาคาร และเครื่องจักร มาค้ำประกัน และให้บริษัท ล. เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ ทั้งนี้
การจำนองอสังหาริมทรัพย์เพื่อค้ำประกันหนี้ได้กระทำก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543
1.2 บริษัท ล. (เจ้าหนี้อื่นที่มิใช่สถาบันการเงิน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ
จำนวนมูลหนี้ 39 ล้านบาท
2. ในการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ บริษัทฯ จะกระทำการดังนี้
2.1 ขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท ล. แล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่บรรษัท เงินทุนฯ
2.2 โอนทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทฯ ให้แก่บริษัท ล. เพื่อชำระหนี้ที่บริษัทฯ มีต่อบริษัท ล.
แต่เนื่องจากมูลค่าทรัพย์สินที่โอนดังกล่าวมีมูลค่าน้อยกว่ามูลหนี้ที่บริษัทฯ เป็นหนี้อยู่กับบริษัท ล. มูลหนี้ส่วน
ที่เหลือ บริษัท ล. จะทำการปลดหนี้ให้แก่บริษัทฯ
ทั้งนี้ การกระทำตาม 2.1 และ 2.2 จะกระทำภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2545
3. บริษัทฯ หารือว่า
3.1 การขายอสังหาริมทรัพย์ตาม 2.1 บริษัทฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตาม
มาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545 หรือไม่
3.2 การโอนทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้แก่บริษัท ล. ตาม 2.2 บริษัทฯ จะได้รับสิทธิ
ประโยชน์ทางภาษีอากรตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545 หรือไม่
3.3 หนี้ที่บริษัท ล. ปลดให้แก่บริษัทฯ ตาม 2.2 บริษัท ล. จะจำหน่ายเป็นหนี้สูญ
ออกจากบัญชีลูกหนี้โดยไม่ต้องดำเนินการตามข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186
(พ.ศ. 2534)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 237 (พ.ศ. 2545)ฯ ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ โอนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจำนองเป็นประกันหนี้อยู่กับบรรษัทเงินทุนฯ เจ้าหนี้ที่
เป็นสถาบันการเงิน ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ให้แก่บริษัท ล. ผู้ค้ำประกันและเจ้าหนี้อื่นที่
มิใช่สถาบันการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เป็น
สถาบันการเงิน กรณีดังกล่าว หากบริษัทฯ ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ที่เป็น
สถาบันการเงินซึ่งได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และเป็นการ
โอนอสังหาริมทรัพย์ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2545 บริษัทฯ
ย่อมได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอน
อสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ (บริษัท ล.) ซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและสำหรับการกระทำ
ตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่
กับสถาบันการเงินหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้กับสถาบันการเงินตามมาตรา 8 แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนด
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับ
จำนวนเงินที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่นำมาจำนองเป็นประกันหนี้
ของเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำไปชำระหนี้ที่
ค้างชำระแก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ลงวันที่ 15
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545
2. กรณีบริษัทฯ โอนทรัพย์สินให้แก่บริษัท ล. เจ้าหนี้อื่นที่มิใช่สถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้
หากบริษัทฯ ได้โอนทรัพย์สินในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.
2545 ตามการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่นที่ได้ดำเนินการโดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุง
โครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม บริษัทฯ
ย่อมได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้
รับจากการโอนทรัพย์สินตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545
3. กรณีบริษัท ล. จะทำการปลดหนี้ให้แก่บริษัทฯ เนื่องจากมูลค่าทรัพย์สินที่โอนตาม 2. มี
จำนวนน้อยกว่ามูลหนี้ที่บริษัทฯ เป็นหนี้อยู่กับบริษัท ล. ซึ่งมูลหนี้ส่วนที่เหลือ บริษัท ล.จะทำ
การจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ กรณีดังกล่าว หากบริษัท ล. ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
โดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
มาใช้โดยอนุโลม และการปลดหนี้ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 ถึงวันที่ 31
ธันวาคม พ.ศ. 2545 บริษัท ล. มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้โดยไม่ต้องดำเนินการตาม
หลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 6 จัตวา ของ
กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 237 (พ.ศ. 2545)ฯ
เลขตู้: 65/32152


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020