เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./11043
วันที่: 24 ธันวาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเฉลี่ยภาษีซื้อโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3, มาตรา 82/6, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 เพื่อ
ดำเนินการโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 บริษัทฯ มีผู้ถือหุ้นจำนวน 2 ราย คือ
การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันเป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บมจ.
ทอท.) และกระทรวงการคลัง บริษัทฯ ได้บริหารงานและดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และได้
ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการก่อสร้างดังกล่าวในลักษณะเต็มจำนวน ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานที่ว่ารายได้
ของ บริษัทฯ หลังจากการเปิดดำเนินการท่าอากาศยานแล้ว จะเป็นรายได้ประเภทที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้แจ้งรายการเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร และการใช้พื้นที่อาคาร
ตามแบบ ภ.พ.05.1 ภ.พ.05.2 และแบบ ภ.พ.05.3 และไม่ได้มีการแจ้งรายการประมาณการรายได้
ของโครงการดังกล่าว บริษัทฯ ได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ (เดิม) เป็น
จำนวนเงิน 587,421,825.14 บาท สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ บริษัทฯ ไป
แล้วเป็นจำนวนเงิน 240,760,293.19 บาท และคงเหลือค้างคืนเป็นจำนวนเงิน 346,661,531.95
บาท โดยภาษีซื้อที่ บริษัทฯ ขอคืนส่วนใหญ่เป็นภาษีซื้อจากค่าที่ปรึกษา ค่าปรับปรุงคุณภาพที่ดิน และ
ค่าใช้จ่ายในการทำถนน บริษัทฯ ได้แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
1. เมื่อการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเสร็จ (คาดว่าปลายปี 2547) จะมีการยุบเลิก
บริษัทฯ (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545) และโอนกิจกรรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สิทธิ
หนี้ ความรับผิด และทรัพย์สินรวมทั้งพนักงานของ บริษัทฯ มาเป็นของ บมจ. ทอท. โดยให้
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งใน บมจ. ทอท. เช่นเดียวกับท่าอากาศยานอื่น ๆ ที่อยู่ใน
การบริหารของ บมจ. ทอท.
2. ที่ดินที่ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สิ่งปลูกสร้างใน
ที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นของ บริษัทฯ และเมื่อยุบเลิก บริษัทฯ พร้อมโอนกิจกรรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สิทธิ หนี้ ความรับผิด และทรัพย์สิน รวมทั้งพนักงานมายัง บมจ. ทอท.แล้ว กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างจะ
ตกเป็นของ บมจ. ทอท. เมื่อสัญญาเช่าที่ดินสิ้นสุด สิ่งปลูกสร้างจะตกเป็นของกรมธนารักษ์
กระทรวงการคลัง
3. บริษัทฯ คาดว่า เมื่อก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วเสร็จ บริษัทฯ จะมีรายได้
เกี่ยวกับกิจการการบิน เช่น ค่าธรรมเนียมสนามบิน ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน รายได้เกี่ยวกับ
ค่าเช่าสำนักงานและอสังหาริมทรัพย์
บริษัทฯ จึงขอหารือเกี่ยวกับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่เหลือ
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างสนามบิน และอาคารเพื่อใช้ในการ
ประกอบกิจการของตนเอง ในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และตามมติคณะรัฐมนตรี ฉบับที่
58/2545 ลงวันที่ 10 กันยายน 2545 ได้กำหนดว่า เมื่อการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วเสร็จ
ให้โอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด ทรัพย์สิน รวมทั้งพนักงานทั้งหมดของ บริษัทฯ ไปเป็นของ บมจ.
ทอท. และให้ดำเนินการยุบเลิก บริษัทฯ กรณีดังกล่าว เมื่อ บริษัทฯ ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการ
สนามบินและดำเนินการเตรียมการ เช่น การออกแบบ และการก่อสร้าง ซึ่ง บริษัทฯ ได้ทำการก่อสร้าง
สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เช่น รั้ว ถนน สนามบิน และอาคาร บริษัทฯ ได้ประกอบกิจการตามที่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ แม้ว่าเมื่อ บริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วเสร็จ บริษัทฯ
จะต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับ บมจ. ทอท. ตามมติคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ 58/2545 ฯ ก็ตาม กรณีเป็น
เรื่องของการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันอันเป็นเรื่องปกติทั่วไปของการดำเนินธุรกิจ มิใช่เรื่องการ
ยกเลิกสัญญาหรือยกเลิกการให้สิทธิแต่ประการใด ดังนั้น บริษัทฯ จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม
มาตรา 77/1(5) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากรอยู่ และมีสิทธินำภาษีซื้อมาหักในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอเครดิตหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการดำเนินการในโครงการดังกล่าวได้
2. เนื่องจากการประกอบกิจการของ บริษัทฯ จะมีทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น
กิจการท่าอากาศยาน และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การให้เช่าสำนักงานและ
อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ในการนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น บริษัทฯ จึงต้องดำเนินการตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม
พ.ศ. 2535 ดังนี้
2.1 ถ้า บริษัทฯ สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการ
ดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ถือเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทที่
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ๆ ทั้งนี้ ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯดังกล่าว
2.2 ถ้า บริษัทฯ ไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการ
ดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ให้บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อดังกล่าวจำนวนกึ่งหนึ่งของภาษีซื้อที่นำ
มาเฉลี่ย ทั้งนี้ ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ดังกล่าว
2.3 สำหรับภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง
ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเพื่อการอื่น ให้ บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อ โดย
ประมาณการการใช้พื้นที่อาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มและเพื่อการอื่น โดยให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร และให้นำ
ภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของประมาณการการใช้พื้นที่อาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเองซึ่ง
เป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มาหักออกจากภาษีขาย ทั้งนี้ ตามข้อ 5 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ดังกล่าว โดยให้บริษัทฯ แจ้งรายการเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารและ
การใช้พื้นที่อาคารต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการตอบข้อหารือจาก
กรมสรรพากร ทั้งนี้ ตามข้อ 5(7) วรรคสองของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ดังกล่าว
เลขตู้: 65/32154


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020