เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./9246 |
วันที่ | : 17 ตุลาคม 2545 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการโฆษณา |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 79, มาตรา 77/2, มาตรา 82/4 |
ข้อหารือ | : 1. บริษัท อ. ประกอบกิจการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่รถจักรยานยนต์ และให้บริการ ซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ "H" จดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 และมีสาขา 4 แห่ง บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้ยื่น แบบ ภ.พ.30 รวมกัน ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งแต่เดือนภาษีมีนาคม 2535 เป็นต้นมา 2. สำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้เข้าตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอคืนภาษี ณ สถานประกอบการของบริษัทฯ ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้ 2.1 บริษัทฯ จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ แยก เป็นรายสถานประกอบการ 2.2 การจัดทำใบกำกับภาษีขายและใบลดหนี้ สำนักงานใหญ่จะเป็นผู้จัดทำใบกำกับภาษี ขายและใบลดหนี้เพียงแห่งเดียว สำหรับสถานประกอบการทั้ง 4 สาขา ไม่มีการจัดทำใบกำกับภาษีขาย และใบลดหนี้แต่อย่างใด 2.3 บริษัทฯ มียอดซื้อที่ขอคืนภาษีซื้อจากการซื้อรถจักรยานยนต์ อะไหล่รถจักรยานยนต์ ค่าโฆษณาที่จ่ายให้กับบริษัทโฆษณา เงินสนับสนุนค่าโฆษณาที่จ่ายให้กับตัวแทนจำหน่ายของบริษัทฯ ค่า ส่งเสริมการขาย ค่าสาธารณูปโภคดังนี้ 2.3.1 บริษัทฯ ซื้อรถจักรยานยนต์จากบริษัท ท. และซื้ออะไหล่รถจักรยานยนต์จาก บริษัท ช. 2.3.2 ค่าโฆษณาที่จ่ายให้กับบริษัทโฆษณาซึ่งทำการโฆษณารถจักรยานยนต์ ทางสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร และโฆษณาตามการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้จ่ายเงินค่าบริการจัดทำ โฆษณาโดยตรง 2.3.3 กรณีการจ่ายเงินค่าส่งเสริมการขาย บริษัทฯ จะจ่ายเงินค่าส่งเสริม การขายให้กับตัวแทนจำหน่ายตามจำนวนรถซึ่งตัวแทนจำหน่ายขายได้ เมื่อตัวแทนจำหน่ายได้รับเงิน จะ ออกใบกำกับภาษีให้กับบริษัทฯ โดยระบุรายการในใบกำกับภาษีว่า "ค่าส่งเสริมการขาย ค่าแคมเปญ" เป็นต้น และบริษัทฯ ก็จะนำใบกำกับภาษีมาถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษีนั้น 2.3.4 เงินสนับสนุนค่าโฆษณาที่จ่ายให้กับตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ โดย ตัวแทนจำหน่ายจะเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายเอง เช่น การโฆษณาทางวิทยุ การ จัดรายการของแจกแถม เป็นต้น หรือจะเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทโฆษณาทำโฆษณาทางวิทยุ นิตยสาร รถแห่ หรือจะเป็นผู้จัดซื้อของแจกแถมที่ใช้ในการส่งเสริมการขายเอง เมื่อดำเนินการแล้วจะนำเอกสารการ ชำระเงินค่าโฆษณาหรือค่าจัดซื้อของแจกแถมมาเพื่อเบิกเงินสนับสนุนค่าโฆษณาจากบริษัทฯ โดยการจ่าย เงินสนับสนุนค่าโฆษณาให้กับตัวแทนจำหน่ายแต่ละรายจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าตัวแทนจำหน่ายจะเป็น ผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์เพียงยี่ห้อเดียวหรือยี่ห้ออื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ หากตัวแทนจำหน่ายมียอด ขายสินค้าลดลง บริษัทฯ จะให้ตัวแทนจำหน่ายจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้น โดยต้องแนบ เอกสารหลักฐานการชำระเงินและรายละเอียดการจัดกิจกรรมเพื่อขอเบิกเงินกับบริษัทฯ โดยบริษัทฯ กับ ตัวแทนจำหน่ายไม่มีการทำสัญญาระหว่างกันแต่อย่างใด บริษัทฯ จะเป็นผู้พิจารณาการจ่ายเงินอุดหนุน และเมื่อตัวแทนจำหน่ายได้รับเงินแล้วจะออกใบกำกับภาษีขายโดยระบุรายการ "ค่าโฆษณา เงินสนับสนุน ค่าโฆษณา สำหรับเดือน ..."ให้บริษัทฯ เพื่อขอคืนภาษีซื้อต่อไป และบริษัทฯ จะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 2.0 3. สำนักงานสรรพากรพื้นที่เห็นว่า การจ่ายเงินสนับสนุนค่าโฆษณาของบริษัทฯ ให้ แก่ตัวแทนจำหน่ายตามข้อ 2.3.4 ถือเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือหรือเงินสนับสนุน ไม่ใช่การจ่าย ค่า โฆษณาหรือการให้บริการ แต่เป็นเงินที่บริษัทฯ ช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการขายสินค้าของตัวแทน จำหน่ายให้ยอดขายเพิ่มขึ้น อีกทั้งการจ่ายเงินดังกล่าวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทฯ เพียง ฝ่ายเดียว ไม่มีการตกลงเป็นหลักการแน่นอนแต่อย่างใด ภาษีซื้อดังกล่าวบริษัทฯ จึงไม่สามารถนำมา ขอคืนได้ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินช่วยเหลือส่งเสริมการขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายตามจำนวนของ รถจักรยานยนต์ที่ตัวแทนจำหน่ายขายได้ เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น เข้าลักษณะเป็นเงินค่าตอบแทน หรือ เงินรางวัลจากการขายสินค้าได้ตามเป้า เงินดังกล่าวมิใช่รายรับที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือการ ให้บริการ จึงไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้า ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 2. กรณีตัวแทนจำหน่ายจ่ายเงินค่าโฆษณารถจักรยานยนต์ให้แก่บริษัทโฆษณาและเรียกเก็บเงิน ดังกล่าวคืนจากบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้า "H" ตกลงให้ตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้ดำเนินการเรื่องโฆษณาสินค้าภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้า ดังกล่าวเพื่อเพิ่มยอดขายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ "H" โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินค่าโฆษณาคืนให้แก่ตัวแทน จำหน่ายแต่ละรายไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และวิธีการที่บริษัทฯ กำหนด เงินที่บริษัทฯ จ่ายคืนให้แก่ ตัวแทนจำหน่ายเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการที่ตัวแทนจำหน่ายให้บริการด้านโฆษณาต่อแก่บริษัทฯ ตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นผู้ให้บริการจึงมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้รับบริการตาม มาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยภาษี มูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ถูกเรียกเก็บถือ เป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ เพื่อนำไปหักกับภาษีขายในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 65/31988 |