เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.15)/16 |
วันที่ | : 14 ตุลาคม 2545 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีจ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าในประเทศสิงคโปร์ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 70, มาตรา 83/6 |
ข้อหารือ | : บริษัท ว. ได้ทำการตกลงเช่าเครนกับบริษัท V ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โดยมิได้ทำสัญญาเช่า เป็นหนังสือ แต่มีข้อตกลงระหว่างกัน โดยบริษัทฯ ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการขอยืมเครนจากบริษัทในเครือ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้า เช่น ค่าอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม และทำการ ชำระเงินค่าเช่าโดยการโอนเงินผ่านธนาคารตามใบแจ้งหนี้ แต่บริษัทฯ มิได้ทำการหักภาษีเกี่ยวกับ ค่าเช่าไว้เพื่อนำส่งแต่อย่างใด โดยชี้แจงเหตุผลว่าบริษัท V เป็นบริษัทซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย ประเทศสิงคโปร์ และตามข้อตกลงในการเช่าก็ระบุให้การส่งมอบเครนดังกล่าวกระทำ ณ ประเทศ สิงคโปร์ โดยบริษัท V ผู้ให้เช่ามิได้เข้ามาประกอบกิจการหรือให้เช่าเครนในประเทศไทยในอันที่ทำให้ บริษัท V ผู้ให้เช่ามีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามนัยข้อ 5 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้น การเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐสิงคโปร์ ค่าเช่าดังกล่าวจึงถือเป็นกำไรธุรกิจ และ ไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาดังกล่าว และบริษัทฯ ซึ่ง เป็นผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากค่าเช่าเครนดังกล่าว ตามมาตรา 70 แห่ง ประมวลรัษฎากร ซึ่งสำนักงานสรรพากรจังหวัดสมุทรปราการเห็นว่า ค่าเช่าเครนที่บริษัทฯ จ่ายให้กับ บริษัท V ผู้ให้เช่าไม่น่าจะเข้าลักษณะเป็นกำไรธุรกิจ ตามข้อ 7 วรรคแรก แห่งอนุสัญญาดังกล่าว แต่ถือ เป็นเงินได้ อื่น ๆ ตามข้อ 21 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับ สาธารณรัฐสิงคโปร์ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่หักภาษีนำส่งจากเงินที่จ่ายให้แก่บริษัท V ถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : การที่บริษัทฯ ตกลงยืมเครนจากบริษัท V โดยชำระเงินเป็นการตอบแทน เนื่องจากได้ใช้ ประโยชน์จากเครนดังกล่าวให้แก่บริษัท V ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่การยืม ตามมาตรา 640 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตามมาตรา 537 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือ เนื่องจากกฎหมายมิได้กำหนดแบบของนิติกรรม ในการทำสัญญาเช่าสังหาริมทรัพย์ (เครน) ไว้ ดังนั้น เงินได้ (ค่าเช่า) ที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ บริษัท V ไม่ถือเป็นกำไรธุรกิจ ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับ สาธารณรัฐสิงคโปร์ แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ซึ่งมิได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในข้อก่อน ๆ ตามข้อ 21 แห่ง อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐสิงคโปร์ บริษัทฯ ซึ่งเป็น ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวจึงต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 นำส่งอำเภอท้องที่ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากบริษัทฯ ได้จ่ายค่าเช่าให้ บริษัท V ซึ่งเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ เมื่อผู้ให้เช่า มิได้มีสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐสิงคโปร์ บริษัทผู้ให้เช่าจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก ค่าเช่าดังกล่าว ทั้งนี้ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ฉะนั้น เมื่อบริษัทฯ ส่งเงิน ค่าเช่าเครนไปให้บริษัท ผู้ให้เช่าในประเทศ สิงคโปร์ บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ประการใด อย่างไรก็ดี เนื่องจากการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเป็นการจ่ายเงินค่าตอบแทนจากการ ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 83/6(2) แห่ง ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของ ค่าเช่า ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายค่าบริการด้วย |
เลขตู้ | : 65/32002 |